วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสที่ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่)


สิ่งที่ผู้เขียนจะเล่าถึงนี้เป็นประสบการณ์ในการพาลูกๆที่นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศสเข้ารับการศึกษาของฝรั่งเศสในโรงเรียนสำหรับคนต่างชาติของเมืองมงต์เปลิเยร์ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส และข้อมูลนี้เขียนจากประสบการณ์และจากการสอบถามข้อมูลจากสามีรวมถึงการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ประกอบเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้พบเจอ และผู้เขียนในขณะนี้ไม่ใช่นักวิชาการหากเป็นเพียงภรรยาของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เป็นคนไทยซึ่งได้เรียนรู้และชอบการเขียนมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว ฉะนั้นการเขียนนี้จึงไม่ใช่บทความทางวิชาการหากแต่เป็นการเขียนอธิบายถึงสิ่งต่างๆที่ผู้เขียนได้พบตามมุมมองของตนเองเพื่อที่จะทำความเข้าใจและใช้ชีวิตในต่างแดนแบบไม่แปลกแยกมากนัก และในบทนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศสที่คนฝรั่งเศสและคนไทยที่อยู่ฝรั่งเศสมานานรู้สึกว่าธรรมดาเพราะความคุ้นชิน แต่สำหรับคนไทยที่เพิ่งมาอยู่มันก็ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่..กิกิ)

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียน
ลูกๆที่ผู้เขียนกล่าวว่า"นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศส"คือเป็นลูกๆที่เกิดจากสามีคนแรกที่เป็นคนไทยเพื่อไม่ให้ผู้อ่านงงมากนักผู้เขียนขอกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียนก่อนนะคะ ก่อนแต่งงานกับชาวฝรั่งเศสผู้เขียนเป็น single mom หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า"คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว" อยู่ 8 ปีและมีบุตร 3 คน เป็น ชาย 2 หญิง 1 ฉะนั้นเมื่อผู้เขียนแต่งงานครั้งที่ 2 กับชาวฝรั่งเศสจึงได้ทำเรื่องให้ลูกชายคนกลางและลูกสาวคนสุดท้องมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกัน ส่วนลูกชายคนแรกไม่ได้ตามมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยเนื่องจากลูกมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์เมื่อลูกสามารถสอบตรงเข้าเรียนคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ซึ่งสำหรับลูกไม่ได้มาง่ายๆเพราะลูกเรียนโปรแกรมศิลป์-คำนวณแต่สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่เปิดรับทั้งนักเรียนในของโปรแกรมวิทย์-คณิต และศิลป์-คำนวณได้ลูกต้องผ่านการอ่านหนังสือที่หนักมากในช่วงตอนมัธยมปลายเพื่อทำความเข้าใจด้วยตัวเองกับวิชาฟิสิกส์,เคมี และชีวะวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ยากและลูกไม่ได้เรียนในชั้นเรียน แต่ด้วยความพยายามของลูกทำให้ลูกได้เริ่มก้าวเท้าเข้ามาสู่ความฝันของตนเองลูกจึงไม่ต้องการมาเริ่มต้นสร้างความฝันใหม่ที่ฝรั่งเศส และถ้าหากลูกอยากต่อยอดความฝันด้วยการเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศสคุณแม่อย่างผู้เขียนก็พร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนลูกให้เต็มตามศักยภาพของตนเอง

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศส
ผู้เขียนได้นำบุตรชายคนกลางซึ่งมีอายุ 15 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชื่อ"น้องคูณ" กับลูกสาวคนเล็กชื่อ"น้องข้าวหอม"ที่มีอายุ 13 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 มาเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ซึ่งลูกๆมาฝรั่งเศสช่วงกลางเดือนกรกฎาคมซึ่งนับว่าเป็นช่วงปิดภาคฤดูร้อนของฝรั่งเศสและเป็นช่วงปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสที่นานทีสุดในรอบปีการศึกษาคือนาน  2 เดือนซึ่งเป็นเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม และการเปิด-ปิดภาคเรียนในฝรั่งเศสไม่ได้เป็น2 ครั้งเหมือนที่เมืองไทยแต่มีการเปิด-ปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง  นอกจากนั้นวันเปิด-ปิดภาคเรียนก็ไม่ตรงกันทั้งประเทศกล่าวคือ วันเปิด-ปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสจะแบ่งเป็น 3 โซนมีโซนA โซนB และโซนC ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในโซนเดียวกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกัน โซนต่างกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกัน แต่ว่ายังมีวันปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศอยู่ 3 ครั้ง ดังปฏิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A, B, C ในภาพที่ 1

                       ภาพที่1ปฎิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A,B,C
 (http://cache.media.education.gouv.fr/file/Services/17/1/calendrierscolaire20152016_296171.pdf)


จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าประเทศฝรั่งเศสมีการปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง(เส้นแถบสีส้ม, ฟ้า, เขียว,คือเส้นที่บอกถึงวันปิดภาคเรียน)ซึ่งบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศและบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกันในแต่ละโซน ซึ่งสรุปการเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสตามโซนต่างๆดังนี้

1.) การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 1 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศคือ เปิดวันที่ 1 กันยายน-17 ตุลาคม และปิดวันที่ 18 ตุลาคม- 1พฤศจิกายน

2.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 2 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศเช่นกันคือ เปิดวันที่ 2 พฤศจิกายน - 19 ธันวาคม และปิดวันที่ 20 ธันวาคม- 3 มกราคม ซึ่งการปิดภาดเรียนช่วงนี้เป็นการปิดเพื่อเฉลิมฉลองในวันคริสต์และปีใหม่

3.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 3มีการเปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศคือเปิดวันที่ 4 มกราคม แต่การปิดภาคเรียนเป็นการปิดที่แตกต่างวันในแต่ละโซน (เริ่มแล้วนะ เริ่มทำให้งง..หุหุ) ซึ่งนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูตามโซนของตัวเองว่าโรงเรียนของตนปิดวันที่เท่าไหร่

4.การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 4 เป็นการเปิด-ปิดภาคเรียนที่มีวันแตกต่างกันทั้งเปิด-ปิดภาคเรียนในแต่ละโซน (ยุ่งยากแบบจัดเต็มเลยอ่ะ..อิอิ) ฉะนั้นนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูปฏิทินแสดงวันปิด-เปิดภาคเรียน ซึ่งเข้าใจไม่ยากค่ะ แต่ต้องดูถ้าไม่ดูได้หลงไปโรงเรียนในวันที่โรงเรียนปิดภาคเรียนกันบ้างล่ะ..อิอิ

5. การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 5 เป็นการเปิดภาคเรียนที่แตกต่างกันในแต่ละโซน แต่วันปิดภาคเรียนจะปิดพร้อมกันในวันที่ 6 ตุลาคม และยาวไปถึง ไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงการปิดภาคเรียนที่นานที่สุดคือ 2 เดือนและเป็นภาคฤดูร้อนตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว


มาถึงตอนนี้ก็น่าสงสัยนะว่าทางการศึกษาฝรั่งเศสกำหนดวันเปิด-ปิดภาคเรียนแบบไม่ตรงกันทำไมเนี่ย...งงนะ..ซึ่งคุณสามีให้เหตุผลว่าถ้าปิดภาคเรียนตรงกันทั้งประเทศจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรและสถานที่เที่ยวจะคร่าคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวซึ่งคงจะวุ่นวายน่าดู อย่างเช่นการปิดภาคเรียนครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ผู้คนนิยมไปเล่นสกีกัน และประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีหิมะที่สามารถเล่นสกีกันได้เฉพาะบริเวณเทือกเขาแอลป์ (Les Alpes) ที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศ บริเวณทือกเขาพิเรนีส (Pyrénées)ที่อยู่บริเวณภาคใต้ และเทือกเขามัสซิส ซองตรัล
(Massif Central) ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางภาคใต้ของประเทศ จึงเป็นการแบ่งโซนและปิดภาคเรียนในเวลาที่ต่างกันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกเดินทางไปเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

(ขอนอกเรื่องหน่อยนะค่ะ)..ความที่ประเทศฝรั่งเศสมีหิมะเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ฉะนั้นคนฝรั่งเศสที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีหิมะจึงตื่นเต้นเมื่อเห็นหิมะตกไม่ต่างจากคนไทยอย่างผู้เขียนค่ะ เช่นบ้านของผู้เขียนอยู่ที่เมืองAigues Mortes ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ไม่มีหิมะให้เห็นง่ายๆ แต่ก็จะมีปรากฎการณ์หิมะตกเป็นบางปีและตกแบบนิดหน่อยเพียงวันเดียวแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปีแรกที่ผู้เขียนได้มาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้นับเป็นปีที่มีหิมะตกพอดี ซึ่งเพื่อนบ้านบอกว่าเพิ่งจะมีหิมะตกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และผู้คนแถวบ้านก็ตื่นเต้นที่เห็นหิมะตกที่บ้านของตนเอง ซึ่งผู้เขียนได้ยินเสียงเฮด้วยความดีใจของผู้คนแถวบ้านในวันที่หิมะตก  ซึ่งผู้เขียนได้เฮผสมโรงไปด้วยและออกมาวิ่งสัมผัสหิมะเล่นแบบคนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก..อิอิ

ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นประเทศเมืองหนาวทำให้ผู้คนที่นี่ชอบแสงแดดชอบฤดูร้อนและชอบเที่ยวพักผ่อนในฤดูร้อนเช่นกัน  ผู้เขียนจึงคิดว่าที่มีการปิดภาคเรียนระยะยาวถึง 2 เดือนในฤดูร้อนและปิดตรงกันทั้งประเทศเพราะระยะเวลานาน 2 เดือนผู้คนมีเวลามากพอที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนและเวลานาน 2 เดือนคงทำให้ผู้คนกระจายวันกันออกไปเทียวซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาจราจร  แต่ปัญหาการจราจรในช่วงฤดูร้อนก็ยังมีค่ะ เนื่องจากผู้เขียนเคยเดินทางในช่วงฤดูร้อน บริเวณจุดจ่ายเงินค่าทางด่วนสายที่รถวิ่งออกนอกเมืองเพื่อไปท่องเที่ยวรถติดยาวเป็นกิโลเลยค่ะ ซึ่งผู้เขียนเคยใช้เส้นทางนี้ที่ไม่ใช่ช่วงปิดภาคเรียนไม่เคยเห็นรถติดขนาดนี้ ทีแรกผู้เขียนคิดว่าอาจมีอุบัติเหตุ แต่ไม่มีค่ะและคุณสามีบอกว่าเป็นอย่างนี้ถือว่าปกติสำหรับช่วงปิดภาคเรียน ถึงตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมที่ฝรั่งเศสถึงได้มีวันปิดภาคเรียนที่ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ นี่ขนาดปิดไม่พร้อมกันยังขนาดนี้ถ้าปิดพร้อมกันจะขนาดไหน งั้นผู้เขียนขออยู่บ้านนั่งเขียนบล็อกดีป่ะ ประหยัดเงินด้วย(คิดตามประสาคนขี้เหนียวอีกแล้ว..อิอิ)

จากภาพที่ 1 หากพิจารณาการการแบ่งโซนตามช่องโซน A, B, C อย่างคุณสามีพอเห็นชื่อเมืองจะรู้เลยว่าชื่อเมืองนี้อยู่ภาคไหนของประเทศแต่ผู้เขียนเพิ่งมาอยู่ไมถึงปีจะรู้อย่างเธอไหมล่ะ ฉะนั้นผู้เขียนมีตัวช่วยคือภาพปฏิทินของโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน A, B, C ด้วยสีส้ม, ฟ้า, เขียว, ตามภาพที่ 2 ด้านล่างค่ะ


 ภาพที่ 2ปฏิทินของโรงเรียนปี 2015-2018ที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซนA, B,C ด้วยสีส้ม,ฟ้า,เขียว
http://www.education.gouv.fr/cid87910/calendrier-scolaire-pour-les-annees-2015-2016-2016-2017-2017-2018.htm

จากภาพที่ 2 ภาพแผนที่รูปใหญ่เป็นปฏิทินของโรงเรียนอันใหม่ค่ะ ส่วนภาพแผนที่อันเล็กนั่นเป็นของเก่านะคะ ฉะนั้นดูรูปแผนที่อันใหญ่นะคะ จะเห็นได้ว่าสีทั้ง 3 สีทำให้เห็นภาพการแบ่งโซนได้ง่ายว่าในแต่ละโซนครอบคลุมเมืองอะไรบ้าง โดยเมืองต่างๆที่อยู่พื้นที่สีส้มเป็นโซนA, เมืองที่อยู่ในสีฟ้าเป็นโซนB  และโซนเมืองที่อยู่ในสีเขียวเป็นโซนC อย่างลูกๆของผู้เขียนเรียนที่เมืองมงต์เปลิเยร์( Montpellier)จึงอยู่ในโซน C ซึ่งเป็นสีเขียวและประกอบไปด้วยเมือง Montpellier, Toulose ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนเมือง Créteil,  Paris,Versailles เป็นเมืองอยู่ทางภาคเหนือ แต่จากภาพปฏิทินการแบ่งโซนของโรงเรียนทั้งภาพที่1และ2นี้ปรากฏแต่ชื่อเมืองใหญ่ๆและไม่ปรากฏชื่อเมืองบางเมือง เช่นเมืองNîmes หรือเมือง Perpignan ทีผู้เขียนรู้จัก ฉะนั้นก็ต้องดูในแผนที่ว่า สองเมืองนี้อยู่บริเวณไหน เผอิญผู้เขียนรู้จักสองเมืองนี้และรู้ว่าอยู่ในบริเวณพื้นที่เขียวด้านล่างซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ฉะนั้นโรงเรียนในสองเมืองนี้อยู่ในโซน C ถ้าเป็นคนฝรั่งเศสหรือคนไทยที่รู้จักเมืองต่างๆของฝรั่งเศสแค่มีภาพปฏิทินโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน และบอกชื่อเมืองก็จะรู้ว่าอยู่โซนไหน แต่ผู้เขียนจำชื่อเมืองในประเทศฝรั่งเศสได้เพียงไม่กี่เมือง ซึ่งพอจะรู้เฉพาะเมืองแถวภาคใต้เท่านั้น ถ้าเป็นภาคอื่นต้องเปิดแผนที่ดูค่ะ..

หลังจากผู้เขียนนั่งพิจารณาตารางวันปิดภาคเรียนของลูกๆอยู่สักพัก ผู้เขียนถึงได้เข้าใจคุณสามีว่าทำใมคุณสามีตอบว่า "ยุ่งยาก"ขณะที่ผู้เขียนเคยถามถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าอธิบายโดยปราศจากปฏิทินของโรงเรียนคงอธิบายยากจริงๆ และกระบวนการเรียนรู้ระบบการเข้าเรียนของลูกๆในฝรั่งเศสของผู้เขียนเพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น และเรื่องต่อไปเป็นระบบการจัดการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสซึ่งติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปค่ะ

ขณะหิมะตกบริเวณหลังบ้าน
ขณะหิมะตกถ่ายจากชั้นบนของบ้าน


ผู้เขียนออกไปเล่นหิมะขณะที่มีหิมะตกเพียง 2-3 ชั่วโมงในรอบ 5 ปี















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น