วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การจัดระดับชั้นการศึกษาของประเทศฝรั่งเศส

ในบทนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงระบบการศึกษาของฝรั่งเศสในระดับประถมและมัธยมศึกษาเท่านั้นและที่ไม่ได้กล่าวถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพราะลูกๆของผู้เขียนยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น ไว้ลูกชาย"น้องคูณ"จบการศึกษาระดับมัธยมปลายและเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยค่อยเขียนเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษา ค่อยๆเขียนค่อยๆเล่าจากเหตุการณ์ที่พบเจอ ตามแนวคิดเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล่าจากตำราซะงั้น..อิอิ..

เด็กๆมาถึงฝรั่งเศสในช่วงปิดภาคฤดูร้อนและเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดสนิทจริงๆ..เพราะที่นี่เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาจะทำงานหลังจากปิดภาคเรียนฤดูร้อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้มาติดต่อเกี่ยวกับเรื่องเรียน แต่เด็กๆมาหลังจากช่วง 2 สัปดาห์นี้แล้วผู้เขียนจึงขอใช้คำว่าว่าปิดสนิทจริงๆ..อิอิ.. เพราะไม่มีใครอยู่ที่โรงเรียนเลย  ฉะนั้นพวกเราจึงต้องรอโรงเรียนเปิดเทอมในวันที่ 1 กันยายนจึงเริ่มดำเนินการติดต่อกับ "Espace Senghor Montprllier" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างชาติของเมืองมงต์เปลิเยร์และหน่วยงานนี้อยู่ในโรงเรียนระดับมัธยมต้น  Collège Les Aiguerelles และเป็นหน่วยงานที่คุณสามีได้ขอใบลงทะเบียนเรียนโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศสของเด็กๆซึ่งเป็นเอกสารใช้ประกอบในการขอวีซ่า  และการติดต่อกับโรงเรียนที่นี่ใช้ระบบนัดหมายค่ะ ไม่ใช่การเดินเข้าไปติดต่อฉะนั้นพอโรงเรียนเปิดเทอมคุณสามีได้โทรนัดเพื่อขอนำเด็กเข้าไปติดต่อเรื่องเรียน ซึ่งเราได้รับการนัดหมายให้พาเด็กไปพบ อีก 2 สัปดาห์ถัดไปและเป็นการนัดหมายในช่วงบ่าย
ภาพของหน่วยงาน"Espace Senghor Montprllier"ที่ผู้เขียนไปติดต่อที่เรียนให้ลูกๆและอยู่ภายในโรงเรียน Collège Les Aiguerelles (ภาพจากhttp://www.clg-aiguerelles-montpellier.ac-montpellier.fr/)

เมื่อถึงเวลานัดหมายพวกเราพาเด็กๆไปพบตามนัด ซึ่งไม่ต้องรอเพราะที่นี่เวลานัดถือว่าสำคัญมาก ซึ่งถ้าหากนัดหมายกับเราแล้วเวลาที่นัดไว้คือเวลาของเราเลยค่ะ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักประวัติเกี่ยวกับข้อมูลของเด็กและเทียบระดับการศึกษาของไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งการแบ่งระดับการศึกษาของไทยกับฝรั่งเศสก่อนระดับอุดมศึกษาเรียน 12 ปีเหมือนกัน แต่มีการแบ่งช่วงระดับชั้นที่ต่างกันคือประเทศไทยแบ่งเป็น 6:3:3 ส่วนการศึกษาของฝรั่งเศสแบ่งช่วงระดับชั้นเป็น 5:4:3 กล่าวคือประเทศไทยเรียนระดับประถมศึกษา 6 ปี, เรียนมัธยมศึกษาระดับต้น 3 ปีและระดับมัธยมปลาย 3 ปี ส่วนการศึกษาของฝรั่งเศสแบ่งช่วงระดับชั้นเป็น 5:4:3 คือ



1.ระดับประถมศึกษา( Enseignement du premier degré)  ซึงเรียกโรงเรียนระดับนี้ว่าL'école  élémentaire ใช้เวลาเรียน 5 ปี คืออายุ 6-11 ปี

2.ระดับมัธยมศึกษา(Enseignement du second degré)ตอนต้นเรียน 4 ปี อายุ 11-15 ปีและเรียกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต้นว่า Collège

3.ระดับมัธยมศึกษา(Enseignement du second degré)ตอนปลายเรียน 3 ปี อายุ 15-18 และเรียกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาปลายว่า Lycée


ฉะนั้นลูกชาย(น้องคูณ)ที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากเมืองไทยแล้วจึงเทียบได้ว่าน้องคูณได้เรียนจบระดับ Collège ของที่นี่แล้ว และกำลังจะเข้าเรียนในโรงเรียนระดับ Lycée ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษากับผู้เขียนเข้าใจตรงกัน ส่วนน้องข้าวหอมที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 1จากไทยจึงเปรียบเหมือนเรียนอยู่ในระดับ Collège และเรียนจบปีที่ 2 ของระดับ Collège  ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาได้พูดสรุปเกี่ยวกับระดับชั้นการเรียนของน้องข้าวหอมเป็นฝรั่งเศสว่า "Cinquième" ซึ่ง Cinquième แปลเป็นภาษาไทยว่าลำดับที่ 5ทำให้ผู้เขียน"อยากฟังซ้ำ" เพราะคิดว่าฟังผิด..อิอิ..เนื่องจากน่าจะได้ยินคำว่าลำดับที่ 2 หรือถ้านับปีการศึกษาที่เรียนต่อกันมาเรื่อยๆแบบอเมริกาก็น่าจะเป็นลำดับที่7หรือการเรียกเกรด 7แบบของอเมริกา  แต่นี่กลับได้ยินลำดับที่ 5 ผู้เขียนจึงไม่ตอบว่า"oui" ซึ่งแปลว่า"ใช่ " แต่ทำหน้าเหว่อแบบที่เรียกว่า "งงอ่ะ"ลูกสาวช้านจบม.1 ทำไมมาเทียบเป็นป.5ที่นี่ล่ะ หรือการสื่อสารมันผิดพลาดเจ้าหน้าที่อาจสับสนกับภาษาฝรั่งเศสปนอังกฤษสำเนียงไทยของเรา คุณสามีจึงรีบตอบ oui แทนและส่งสายตามาบอกผู้เขียนประมาณว่าที่เจ้าหน้าที่พูดนะถูกแล้ว(มันจะถูกได้ยังไงเดี๋ยวให้กลับบ้านก่อนเถอะ..แม่จะหาข้อมูลให้มันรู้ดำรู้แดงไปเลย) พอกลับมาบ้านผู้เขียนนั่งหัวฟูหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อมูล และตรงไหนที่ไม่เข้าใจหรือต้องการรู้อะไรเพิ่มเติมก็ถามคุณสามีๆก็ใจดีตอบให้ทุกประเด็น ซึ่งผู้เขียนสรุปและเทียบกับการจัดระดับการศึกษาของไทยกับของฝรั่งเศสได้ดังนี้ค่ะ (ผู้เขียนได้เขียนถึงการเรียกชั้นเรียนในระดับอนุบาลด้วยถึงแม้ว่าการเรียนระดับนี้ไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับเช่นเดียวกับของไทยเราแต่ผู้เขียนเห็นว่าในข้อมูลที่อ่านมีการเขียนถึงการศึกษาระดับอนุบาลในผังการจัดระดับการศึกษาเลยใส่ข้อมูลส่วนนี้มาด้วย)
(ข้อมูลhttp://media.eduscol.education.fr/file/dossiers/50/5/enseignement_scolaire_VF_135505.pdf)


              ไทย                                                                     ฝรั่งเศส

*การศึกษาระดับประถมศึกษา      * L'Enseignement du premier degré 
     ชั้นอนุบาลเรียน 3 ปี                            École maternelle เรียน 3ปี(อายุ 3-6ปี)
อนุบาล 1                                                             Petite section
อนุบาล 2                                                             Moyen section
อนุบาล 3                                                             Grande section

   *ระดับประถมศึกษา                        * L' École élémentaire
          เรียน 6 ปี                                                  เรียน 5ปี (อายุ 6-11ปี)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1                  Cours Préparatoire  ( CP)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2               Cours élémentaire 1ére année (CE1) :1ére หมายถึงลำดับที่ 1
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3               Cours élémentaire 2e année (CE1) :1ére หมายถึงลำดับที่2
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4               Cours Moyen 1ére année (CM1)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5               Cours Moyen 2e année (CM2)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6                6e (Sixième) หมายถึงลำดับที่่ 6 และจัดอยู่ในระดับCollège

*การศึกษาระดับมัธยมต้น                        *L'enseignement secondaire (Collège)
         เรียน 3 ปี                                                     เรียน 4 ปี(อายุ 11-15ปี)
มัธยมศึกษาปีที่1                                 5e (Cinquième)หมายถึงลำดับที่ 5
มัธยมศึกษาปีที่2                                 4e (Quatrième)หมายถึงลำดับที่ 4 
มัธยมศึกษาปีที่3                                 3e (Troisième)หมายถึงลำดับที่ 3


*การศึกษาระดับมัธยมปลาย                  *L'enseignement secondaire (Lycée )
           เรียน 3 ปี                                                  เรียน 3 ปี(อายุ 15-18ปี)
มัธยมศึกษาปีที่ 4                              Seconde หมายถึงลำดับที่ 2
มัธยมศึกษาปีที่ 5                              Première หมายถึงลำดับที่ 1
มัธยมศึกษาปีที่  6                             Terminaleหมายถึงสุดท้าย

(มาถึงตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมสาวน้อยของเราที่จบชั้นม.1จากบ้านเรามาอยู่นี่เรียกว่าระดับที่ 5 ที่ฝรั่งเศสพอเข้าเรียนระดับมัธยมต้นการนับชั้นปีเป็นการนับถอยหลังซะงั้น..เลยทำให้ผู้เขียนงงซะตั้งนาน....แล้วผู้เขียนก็ปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไรน่า " โง่ย่อมมาก่อนฉลาดเสมอ"..อิอิ)

นักเรียนที่นี่เมื่อเรียนจบระดับ Collège แล้วทุกคนจะต้องสอบให้ได้ประกาศนียบัตร BEPC (Brevet d'  études premaier cycle) ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรแห่งชาติเพราะเป็นการสอบที่ใช้ข้อสอบกลางของรัฐจึงเป็นข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งที่นี่ผลการสอบนี้นับว่าสำคัญในการเลือกเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย(Lycée) เพราะในการเข้าเรียนต่อระดับ Lycée ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะมาพิจารณาร่วมกันว่านักเรียนควรเรียนต่อมัธยมปลายในสายไหน โรงเรียนอะไรโดยใช้ผลการสอบประกาศนียบัตร BEPCกับผลการเรียนของเด็กในระดับ Collège ในระยะเวลา4 ปีที่ผ่านมา มาประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อตกลงกันได้แล้วทางโรงเรียนCollègeจะเป็นผู้ทำเอกสารติดต่อไปยังโรงเรียน Lycée ที่สรุปว่าเด็กควรจะไปเข้าเรียน ข้อมูลนี้คุณสามีเล่าให้ฟังถึงตอนนำบุตรสาวที่เกิดจากภรรยาชาวฝรั่งเศส (ภรรยาชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตไปแล้ว)เข้าเรียนในระดับ Lycée ผู้เขียนว่าระบบอย่างนี้ก็ดีนะ รับรองว่าไม่มีข่าวผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมดังรับเงินใต้โต๊ะเพื่อรับเด็กเส้นเข้าเรียน..อิอิ..แต่ถ้าผู้ปกครองประสงค์จะนำลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าเทอมเอง ซึ่งค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนที่นี่ค่อนข้างแพงแต่มีระบบการเรียนการสอนที่ดี ซึ่งลูกสาวของสามีเรียนระดับ Lycée ในโรงเรียนเอกชน

ในการเรียนระดับมัธยมปลายหรือ Lycée จะแบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 ระบบคือ (ข้อมูลจากhttps://fr.wikipedia.org/wiki/Enseignement_secondaire)

1. Lycée d’enseignement général โรงเรียนสายสามัญ ซึ่งจะมีการศึกษาด้านวรรณกรรม (ใช้คำว่า littéraire ), วิทยาศาสตร์. เศรษฐกิจ และสังคม
2. Lycée d’enseignement  technologique โรงเรียนสายเทคโนโลยี
3. Lycée Professionnel โรงเรียนสายอาชีพ


เมื่อนักเรียนระดับ Lycée  เรียนจนจบระดับ Terminale แล้วในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของที่ฝรั่งเศสสิ่งที่สำคัญคือการสอบให้ได้ประกาศนียบัตร BAC(Baccalauréat)แยกตามสายสามัญ (Baccalauréat général)  /สายเทคโนโลยี (Baccalauréat technologique)/สายอาชีพ(Baccalauréat professionnel)ซึ่งเทียบเท่าวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในประเทศไทยแต่ต่างกันที่ไม่ใช่เป็นประกาศนีบัตรของสถานศึกษาอย่างบ้านเราแต่เป็นประกาศนียบัตรแห่งชาติที่ได้มาจากผลการสอบทั่วไปโดยข้อสอบกลางของรัฐ  ซึ่งนับว่าเป็นการวัดระดับความรู้ของเด็กมัธยมปลายในมาตรฐานเดียวกันในแต่ละสายไม่ว่าจะเป็นสายสามัญ, สายทางเทคโนโลยีหรือสายวิชาชีพ ฉะนั้นคะแนนที่ได้จากการสอบประกาศนียบัตร BAC(Baccalauréat) จึงเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเด็กมีความรู้ระดับมัธยมปลายในสาขาต่างๆอยู่ในระดับไหนของประเทศ และเด็กที่จบมัธยมปลายจากจากประเทศอื่นต้องการศึกษาต่อระดับดับปริญญาตรีในประเทศฝรั่งเศส จำเป็นต้องวัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศสให้ได้ก่อน

การศึกษาภาคบังคับของฝรั่งเศสอยู่ระหว่างอายุ 6-16 ปี และไม่มีการสอนเกี่ยวกับศาสนาใดๆในโรงเรียนนอกจากนั้นยังห้ามไม่ให้มีการแสดงออกที่ชัดเจนทางศาสนา เช่นห้ามใส่หมวกคลุมฮิญาบแบบอิสลามในโรงเรียนเนื่องจากการความเป็นกลางทางศาสนา และหากต้องการทราบเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประเทศฝรั่งเศสที่เขียนเป็นภาษาไทยมีบางท่านเขียนเป็นภาษาไทยหาอ่านได้ในเว็บไซต์นี้ค่ะ(http://www.pub-law.net/Publaw/view.aspx?id=765)

มาถึงตอนนี้ผู้เขียนเข้าใจเกี่ยวกับการเรียกระดับชั้นการศึกษาของฝรั่งเศสแล้วค่ะ และทางโรงเรียนได้รับเรื่องของน้องคูณไว้และนัดสอบวิชาคณิตศาสตร์กับความรู้พื้นฐานภาษาฝรั่งเศสในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งน้องคูณบอกว่าวิชาคณิตศาสตร์ทดสอบความรู้แบบใช้สัญญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ถึงแม้ไม่มีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสก็สามารถทำข้อสอบได้ ถ้าหากเด็กเข้าใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในเรื่องนั้นๆเช่น สมการ การบวก-ลบ-คูณ-หาร เศษส่วน ซึ่งการตอบคำถามเป็นช่องว่างให้เด็กเติมตัวเลขหรือเครื่องหมายต่างๆตามช่องที่กำหนดให้ เลขแต่ละข้อมีหลายช่องให้เติม ส่วนภาษาฝรั่งเศสเริ่มทดสอบโดยให้อ่านพยัญชนะภาษาฝรั่งเศส และอ่านคำง่ายๆเป็นคำๆ เมื่อเด็กอ่านไม่ได้จะให้เด็กหยุดอ่าน ถ้าเด็กคนไหนอ่านได้จะให้อ่านเป็นประโยคยาวๆ น้องคูณไม่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาก่อนแต่ผู้เขียนได้สอนให้ออกเสียงพยัญชนะและสระภาษาฝรั่งเศสมาบ้าง น้องคูณจึงอ่านได้แต่คำที่ง่ายๆเท่านั้น หลังจากสอบได้ 1 สัปดาห์ ทางเจ้าหน้าที่ได้นัดให้มาทำเอกสารเกี่ยวกับการมอบตัวเด็กเข้าเรียนและเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ต้องห่วงเรื่องโรงเรียนของน้องคูณ รับรองว่ามีที่เรียนแน่นอนเมื่อได้โรงเรียนสำหรับน้องคูณแล้วจะโทรแจ้งให้ทราบซึ่งต้องใช้เวลานานหน่อยเพราะมีเด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่เมืองนี้เยอะมาก และเจ้าหน้าที่ได้ขี้ให้ดูเอกสารกองเบ้อเร่อบนโต๊ะ..อืมม์..เยอะจริงแฮะ..หุหุ..และก็ใช้เวลานานอย่างที่บอกจริงเพราะพวกเรารอประมาณเดือนกว่าๆ ถึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้น้องคูณไปเข้าเรียนซึ่งเป็นวันที่ 3 พย. 58 และเป็นวันเปิดภาคเรียนครั้งที่ 2 สรุปแล้วน้องคูณรอนานเกือบ 4 เดือนจึงได้เข้าเรียนเพราะช่วงเกือบ 2 เดือนแรกที่น้องคูณมาฝรั่งเศสเป็นช่วงปิดเทอมจึงไม่สามารถติดต่อกับทางศูนย์จัดการศึกษาเพื่อเด็กต่างชาติได้ และช่วงเกือบ 2 เดือนหลังเป็นช่วงติดต่อกับทางศูนย์จัดการศึกษาและเป็นช่วงที่ทางศูนย์ใช้เวลาในการดำเนินการจัดหาโรงเรียนให้กับน้องคูณ

ตอนนี้ผู้เขียนเรียกระดับชั้นต่างๆของการศึกษาที่ฝรั่งเศสแบบไม่งงแล้ว....และในบทต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับ การจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างชาติในฝรั่งเศส ซึ่งในกรณีของน้องข้าวหอมค่อนข้างยุ่งยากแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยความพยายามของสามีและสามารถมาเข้าเรียนหลังพี่คูณเพียงแค่ 2-3 ซึ่งจะยุ่งยากอย่างไรติดตามได้ในบทถัดไปค่ะ


ภาพศาลากลางของแคว้นล็องก์ด็อก-รูซียง(Hotel de Région de  Languedoc-Roussillon)
อยู่ที่
เมืองมงต์เปลิเยร์(Montpellier )จังหวัดจังหวัดเอโร( Herault)นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่ผู้เขียนชอบมากแห่งหนึ่ง





วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสที่ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่)


สิ่งที่ผู้เขียนจะเล่าถึงนี้เป็นประสบการณ์ในการพาลูกๆที่นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศสเข้ารับการศึกษาของฝรั่งเศสในโรงเรียนสำหรับคนต่างชาติของเมืองมงต์เปลิเยร์ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส และข้อมูลนี้เขียนจากประสบการณ์และจากการสอบถามข้อมูลจากสามีรวมถึงการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ประกอบเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้พบเจอ และผู้เขียนในขณะนี้ไม่ใช่นักวิชาการหากเป็นเพียงภรรยาของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เป็นคนไทยซึ่งได้เรียนรู้และชอบการเขียนมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว ฉะนั้นการเขียนนี้จึงไม่ใช่บทความทางวิชาการหากแต่เป็นการเขียนอธิบายถึงสิ่งต่างๆที่ผู้เขียนได้พบตามมุมมองของตนเองเพื่อที่จะทำความเข้าใจและใช้ชีวิตในต่างแดนแบบไม่แปลกแยกมากนัก และในบทนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศสที่คนฝรั่งเศสและคนไทยที่อยู่ฝรั่งเศสมานานรู้สึกว่าธรรมดาเพราะความคุ้นชิน แต่สำหรับคนไทยที่เพิ่งมาอยู่มันก็ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่..กิกิ)

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียน
ลูกๆที่ผู้เขียนกล่าวว่า"นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศส"คือเป็นลูกๆที่เกิดจากสามีคนแรกที่เป็นคนไทยเพื่อไม่ให้ผู้อ่านงงมากนักผู้เขียนขอกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียนก่อนนะคะ ก่อนแต่งงานกับชาวฝรั่งเศสผู้เขียนเป็น single mom หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า"คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว" อยู่ 8 ปีและมีบุตร 3 คน เป็น ชาย 2 หญิง 1 ฉะนั้นเมื่อผู้เขียนแต่งงานครั้งที่ 2 กับชาวฝรั่งเศสจึงได้ทำเรื่องให้ลูกชายคนกลางและลูกสาวคนสุดท้องมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกัน ส่วนลูกชายคนแรกไม่ได้ตามมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยเนื่องจากลูกมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์เมื่อลูกสามารถสอบตรงเข้าเรียนคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ซึ่งสำหรับลูกไม่ได้มาง่ายๆเพราะลูกเรียนโปรแกรมศิลป์-คำนวณแต่สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่เปิดรับทั้งนักเรียนในของโปรแกรมวิทย์-คณิต และศิลป์-คำนวณได้ลูกต้องผ่านการอ่านหนังสือที่หนักมากในช่วงตอนมัธยมปลายเพื่อทำความเข้าใจด้วยตัวเองกับวิชาฟิสิกส์,เคมี และชีวะวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ยากและลูกไม่ได้เรียนในชั้นเรียน แต่ด้วยความพยายามของลูกทำให้ลูกได้เริ่มก้าวเท้าเข้ามาสู่ความฝันของตนเองลูกจึงไม่ต้องการมาเริ่มต้นสร้างความฝันใหม่ที่ฝรั่งเศส และถ้าหากลูกอยากต่อยอดความฝันด้วยการเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศสคุณแม่อย่างผู้เขียนก็พร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนลูกให้เต็มตามศักยภาพของตนเอง

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศส
ผู้เขียนได้นำบุตรชายคนกลางซึ่งมีอายุ 15 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชื่อ"น้องคูณ" กับลูกสาวคนเล็กชื่อ"น้องข้าวหอม"ที่มีอายุ 13 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 มาเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ซึ่งลูกๆมาฝรั่งเศสช่วงกลางเดือนกรกฎาคมซึ่งนับว่าเป็นช่วงปิดภาคฤดูร้อนของฝรั่งเศสและเป็นช่วงปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสที่นานทีสุดในรอบปีการศึกษาคือนาน  2 เดือนซึ่งเป็นเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม และการเปิด-ปิดภาคเรียนในฝรั่งเศสไม่ได้เป็น2 ครั้งเหมือนที่เมืองไทยแต่มีการเปิด-ปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง  นอกจากนั้นวันเปิด-ปิดภาคเรียนก็ไม่ตรงกันทั้งประเทศกล่าวคือ วันเปิด-ปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสจะแบ่งเป็น 3 โซนมีโซนA โซนB และโซนC ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในโซนเดียวกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกัน โซนต่างกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกัน แต่ว่ายังมีวันปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศอยู่ 3 ครั้ง ดังปฏิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A, B, C ในภาพที่ 1

                       ภาพที่1ปฎิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A,B,C
 (http://cache.media.education.gouv.fr/file/Services/17/1/calendrierscolaire20152016_296171.pdf)


จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าประเทศฝรั่งเศสมีการปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง(เส้นแถบสีส้ม, ฟ้า, เขียว,คือเส้นที่บอกถึงวันปิดภาคเรียน)ซึ่งบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศและบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกันในแต่ละโซน ซึ่งสรุปการเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสตามโซนต่างๆดังนี้

1.) การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 1 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศคือ เปิดวันที่ 1 กันยายน-17 ตุลาคม และปิดวันที่ 18 ตุลาคม- 1พฤศจิกายน

2.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 2 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศเช่นกันคือ เปิดวันที่ 2 พฤศจิกายน - 19 ธันวาคม และปิดวันที่ 20 ธันวาคม- 3 มกราคม ซึ่งการปิดภาดเรียนช่วงนี้เป็นการปิดเพื่อเฉลิมฉลองในวันคริสต์และปีใหม่

3.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 3มีการเปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศคือเปิดวันที่ 4 มกราคม แต่การปิดภาคเรียนเป็นการปิดที่แตกต่างวันในแต่ละโซน (เริ่มแล้วนะ เริ่มทำให้งง..หุหุ) ซึ่งนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูตามโซนของตัวเองว่าโรงเรียนของตนปิดวันที่เท่าไหร่

4.การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 4 เป็นการเปิด-ปิดภาคเรียนที่มีวันแตกต่างกันทั้งเปิด-ปิดภาคเรียนในแต่ละโซน (ยุ่งยากแบบจัดเต็มเลยอ่ะ..อิอิ) ฉะนั้นนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูปฏิทินแสดงวันปิด-เปิดภาคเรียน ซึ่งเข้าใจไม่ยากค่ะ แต่ต้องดูถ้าไม่ดูได้หลงไปโรงเรียนในวันที่โรงเรียนปิดภาคเรียนกันบ้างล่ะ..อิอิ

5. การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 5 เป็นการเปิดภาคเรียนที่แตกต่างกันในแต่ละโซน แต่วันปิดภาคเรียนจะปิดพร้อมกันในวันที่ 6 ตุลาคม และยาวไปถึง ไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงการปิดภาคเรียนที่นานที่สุดคือ 2 เดือนและเป็นภาคฤดูร้อนตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว


มาถึงตอนนี้ก็น่าสงสัยนะว่าทางการศึกษาฝรั่งเศสกำหนดวันเปิด-ปิดภาคเรียนแบบไม่ตรงกันทำไมเนี่ย...งงนะ..ซึ่งคุณสามีให้เหตุผลว่าถ้าปิดภาคเรียนตรงกันทั้งประเทศจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรและสถานที่เที่ยวจะคร่าคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวซึ่งคงจะวุ่นวายน่าดู อย่างเช่นการปิดภาคเรียนครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ผู้คนนิยมไปเล่นสกีกัน และประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีหิมะที่สามารถเล่นสกีกันได้เฉพาะบริเวณเทือกเขาแอลป์ (Les Alpes) ที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศ บริเวณทือกเขาพิเรนีส (Pyrénées)ที่อยู่บริเวณภาคใต้ และเทือกเขามัสซิส ซองตรัล
(Massif Central) ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางภาคใต้ของประเทศ จึงเป็นการแบ่งโซนและปิดภาคเรียนในเวลาที่ต่างกันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกเดินทางไปเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

(ขอนอกเรื่องหน่อยนะค่ะ)..ความที่ประเทศฝรั่งเศสมีหิมะเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ฉะนั้นคนฝรั่งเศสที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีหิมะจึงตื่นเต้นเมื่อเห็นหิมะตกไม่ต่างจากคนไทยอย่างผู้เขียนค่ะ เช่นบ้านของผู้เขียนอยู่ที่เมืองAigues Mortes ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ไม่มีหิมะให้เห็นง่ายๆ แต่ก็จะมีปรากฎการณ์หิมะตกเป็นบางปีและตกแบบนิดหน่อยเพียงวันเดียวแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปีแรกที่ผู้เขียนได้มาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้นับเป็นปีที่มีหิมะตกพอดี ซึ่งเพื่อนบ้านบอกว่าเพิ่งจะมีหิมะตกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และผู้คนแถวบ้านก็ตื่นเต้นที่เห็นหิมะตกที่บ้านของตนเอง ซึ่งผู้เขียนได้ยินเสียงเฮด้วยความดีใจของผู้คนแถวบ้านในวันที่หิมะตก  ซึ่งผู้เขียนได้เฮผสมโรงไปด้วยและออกมาวิ่งสัมผัสหิมะเล่นแบบคนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก..อิอิ

ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นประเทศเมืองหนาวทำให้ผู้คนที่นี่ชอบแสงแดดชอบฤดูร้อนและชอบเที่ยวพักผ่อนในฤดูร้อนเช่นกัน  ผู้เขียนจึงคิดว่าที่มีการปิดภาคเรียนระยะยาวถึง 2 เดือนในฤดูร้อนและปิดตรงกันทั้งประเทศเพราะระยะเวลานาน 2 เดือนผู้คนมีเวลามากพอที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนและเวลานาน 2 เดือนคงทำให้ผู้คนกระจายวันกันออกไปเทียวซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาจราจร  แต่ปัญหาการจราจรในช่วงฤดูร้อนก็ยังมีค่ะ เนื่องจากผู้เขียนเคยเดินทางในช่วงฤดูร้อน บริเวณจุดจ่ายเงินค่าทางด่วนสายที่รถวิ่งออกนอกเมืองเพื่อไปท่องเที่ยวรถติดยาวเป็นกิโลเลยค่ะ ซึ่งผู้เขียนเคยใช้เส้นทางนี้ที่ไม่ใช่ช่วงปิดภาคเรียนไม่เคยเห็นรถติดขนาดนี้ ทีแรกผู้เขียนคิดว่าอาจมีอุบัติเหตุ แต่ไม่มีค่ะและคุณสามีบอกว่าเป็นอย่างนี้ถือว่าปกติสำหรับช่วงปิดภาคเรียน ถึงตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมที่ฝรั่งเศสถึงได้มีวันปิดภาคเรียนที่ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ นี่ขนาดปิดไม่พร้อมกันยังขนาดนี้ถ้าปิดพร้อมกันจะขนาดไหน งั้นผู้เขียนขออยู่บ้านนั่งเขียนบล็อกดีป่ะ ประหยัดเงินด้วย(คิดตามประสาคนขี้เหนียวอีกแล้ว..อิอิ)

จากภาพที่ 1 หากพิจารณาการการแบ่งโซนตามช่องโซน A, B, C อย่างคุณสามีพอเห็นชื่อเมืองจะรู้เลยว่าชื่อเมืองนี้อยู่ภาคไหนของประเทศแต่ผู้เขียนเพิ่งมาอยู่ไมถึงปีจะรู้อย่างเธอไหมล่ะ ฉะนั้นผู้เขียนมีตัวช่วยคือภาพปฏิทินของโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน A, B, C ด้วยสีส้ม, ฟ้า, เขียว, ตามภาพที่ 2 ด้านล่างค่ะ


 ภาพที่ 2ปฏิทินของโรงเรียนปี 2015-2018ที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซนA, B,C ด้วยสีส้ม,ฟ้า,เขียว
http://www.education.gouv.fr/cid87910/calendrier-scolaire-pour-les-annees-2015-2016-2016-2017-2017-2018.htm

จากภาพที่ 2 ภาพแผนที่รูปใหญ่เป็นปฏิทินของโรงเรียนอันใหม่ค่ะ ส่วนภาพแผนที่อันเล็กนั่นเป็นของเก่านะคะ ฉะนั้นดูรูปแผนที่อันใหญ่นะคะ จะเห็นได้ว่าสีทั้ง 3 สีทำให้เห็นภาพการแบ่งโซนได้ง่ายว่าในแต่ละโซนครอบคลุมเมืองอะไรบ้าง โดยเมืองต่างๆที่อยู่พื้นที่สีส้มเป็นโซนA, เมืองที่อยู่ในสีฟ้าเป็นโซนB  และโซนเมืองที่อยู่ในสีเขียวเป็นโซนC อย่างลูกๆของผู้เขียนเรียนที่เมืองมงต์เปลิเยร์( Montpellier)จึงอยู่ในโซน C ซึ่งเป็นสีเขียวและประกอบไปด้วยเมือง Montpellier, Toulose ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนเมือง Créteil,  Paris,Versailles เป็นเมืองอยู่ทางภาคเหนือ แต่จากภาพปฏิทินการแบ่งโซนของโรงเรียนทั้งภาพที่1และ2นี้ปรากฏแต่ชื่อเมืองใหญ่ๆและไม่ปรากฏชื่อเมืองบางเมือง เช่นเมืองNîmes หรือเมือง Perpignan ทีผู้เขียนรู้จัก ฉะนั้นก็ต้องดูในแผนที่ว่า สองเมืองนี้อยู่บริเวณไหน เผอิญผู้เขียนรู้จักสองเมืองนี้และรู้ว่าอยู่ในบริเวณพื้นที่เขียวด้านล่างซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ฉะนั้นโรงเรียนในสองเมืองนี้อยู่ในโซน C ถ้าเป็นคนฝรั่งเศสหรือคนไทยที่รู้จักเมืองต่างๆของฝรั่งเศสแค่มีภาพปฏิทินโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน และบอกชื่อเมืองก็จะรู้ว่าอยู่โซนไหน แต่ผู้เขียนจำชื่อเมืองในประเทศฝรั่งเศสได้เพียงไม่กี่เมือง ซึ่งพอจะรู้เฉพาะเมืองแถวภาคใต้เท่านั้น ถ้าเป็นภาคอื่นต้องเปิดแผนที่ดูค่ะ..

หลังจากผู้เขียนนั่งพิจารณาตารางวันปิดภาคเรียนของลูกๆอยู่สักพัก ผู้เขียนถึงได้เข้าใจคุณสามีว่าทำใมคุณสามีตอบว่า "ยุ่งยาก"ขณะที่ผู้เขียนเคยถามถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าอธิบายโดยปราศจากปฏิทินของโรงเรียนคงอธิบายยากจริงๆ และกระบวนการเรียนรู้ระบบการเข้าเรียนของลูกๆในฝรั่งเศสของผู้เขียนเพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น และเรื่องต่อไปเป็นระบบการจัดการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสซึ่งติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปค่ะ

ขณะหิมะตกบริเวณหลังบ้าน
ขณะหิมะตกถ่ายจากชั้นบนของบ้าน


ผู้เขียนออกไปเล่นหิมะขณะที่มีหิมะตกเพียง 2-3 ชั่วโมงในรอบ 5 ปี















วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นพฬวรรณพาเที่ยวสะพานส่งน้ำ Pont du Gard ตอนที่ 1


   ส่วนมากคนถ่ายรูปในบริเวณนี้เพื่อให้เห็นสะพานปงดูว์การ์เป็นแบคกราวน์ของภาพ

นพฬวรรณเขียนบล็อกมาหลายตอนส่วนมากจะเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนมธรรมเนียมและวัฒนธรรมของคนฝรั่งเศสที่นพฬวรรณได้พบเจอเมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสตอนใต้ แต่การเขียนบล็อกตอนนี้นพฬวรรณจะเขียนเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวบ้างนะคะ..ซึ่งสถานที่ที่นพฬวรรณจะเขียนถึงคือ สะพานส่งน้ำปงดูว์การ์ (Pont du Gard)

สะพานส่งน้ำปงดูว์การ์นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของแคว้นล็องด็อก-รูซียง  (Languedoc-Roussillon) ซึ่งสะพานนี้สร้างพาดผ่านแม่น้ำการ์ดงในเขตเมืองนีมส์ (Nîmes) ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดการ์ (Gard) และบ้านนพฬวรรณที่ฝรั่งเศสอยู่ที่เทศบาล Aigues Mortes ซึ่งขึ้นกับเมืองนิมส์ นพฬวรรณจึงไปเที่ยวสะพานส่งน้ำปงดูว์การ์เป็นครั้งที่2 แล้ว และถ้ามีโอกาสนพฬวรรณก็จะกลับไปอีกเพราะที่ปงดูว์การ์ยังคงอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติได้ดี ทุกครั้งที่ไปได้ยินเสียงจักจั่นเรไรด้วยคะ อากาศดีสดชื่นและที่สำคัญเราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ จากสื่อมัลติมิเดียต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์ของปงดูว์การ์ ซึ่งนพฬวรรณคิดว่าเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ทันสมัยทำให้เราสามารถเรียนรู้และจินตนาการ ได้ถึงการสร้างสะพาน ความยิ่งใหญ่และประโยชน์ของสะพานแห่งนี้ในประวัติศาสตร์ได้คะ

ปงดูว์การ์ เป็นสะพานส่งน้ำที่สร้างโดยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งหากเป็นสมัยนี้ก็คือท่อประปานั่นเอง โดยสร้างพาดผ่านแม่น้ำการ์ดง  ซึ่งสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งน้ำของเมืองนีมส์ ซึ่งมีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร โดยส่งน้ำจากจากเมืองอูว์แซ็ส (Uzés)ไปยังเมืองนีมส์แต่ระหว่างเมืองอูว์แซ็สและเมืองนีมส์ภูมิประเทศเป็นหุบเขาและมีแม่น้ำการ์ดงอยู่ระหว่างหุบเขา ระบบส่งน้ำที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จึงย้ายมาสร้างอยู่บนสะพานเพื่อข้ามผ่านแม่น้ำการ์ดง

โครงสร้างของปงดูการ์เป็นรูปแบบสะพานหิน 3 ชั้น
โครงสร้างของปงดูว์การ์เป็นรูปแบบสะพานหิน 3 ชั้น ความสูงทั้งหมด 48.8 เมตร แต่ละชั้นมีความสูงแตกต่างกัน บนชั้นที่ 3 ซึ่งสูงสุดมีความยาวจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งประมาณ 50 เมตร สร้างด้วยก้อนหินสกัดเป็นสี่เหลี่ยมแล้วนำมาสร้างต่อกัน โดยฐานรากชั้นที่ 1 เป็นตอม่อสะพานที่มีความหนาซึ่งส่วนนี้ทำเป็นสะพานสำหรับเดินทางข้ามแม่น้ำการ์ดงไปอีกฝั่งหนึ่ง ชั้นที่ 2 จะเริ่มเล็กลง และชั้นบนสุดเป็นตอม่อขนาดเล็กลงที่เรียงกันเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับท่อส่งน้ำขนาดเล็ก

นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสคาดการณ์ว่า ผู้ที่คุมการก่อสร้างสะพานส่งน้ำแห่งนี้คือ Mercus Vipsanius Agrippa  เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านวิศวกรรม และเป็นบุคคลสำคัญของจักรพรรดิAugustus  กษัตริย์ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันยุคที่มีความเจริญสูงสุด ทั้งนี้มาร์คัสเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลด้านการหาแหล่งน้ำและส่งน้ำเข้ามายังกรุงโรม และดินแดนอาณานิคม ซึ่งรวมทั้งทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่ามาร์คัสน่าจะเป็นผู้ทีทำการดูแลก่อการสร้างสะพานแห่งนี้ โดยเริ่มสร้างเมื่อ 19 ปีก่อนคริสต์กาล และใช้เวลา15 ปีจึงแล้วเสร็จ ใช้คนงานไม่ต่ำกว่า 1000 คน (ใช้เวลาสร้างถึง 15ปีฉะนั้นถ้าจะจำว่าสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 1อย่างที่วิกิพิเดียกล่าวว่าก็น่าจะจำได้ง่ายกว่านะคะ)

รูปแบบการก่อสร้างของปงดูว์การ์ที่สร้างมานานกว่า 2,000 ปีนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นความชาญฉลาดในการออกแบบของวิศวกรสมัยโบราณที่สามารถ สร้างขึ้นโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ ทำให้สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตแห่งนี้นำมาใช้เป็นประโยชน์ให้กับประชากรในเมืองนีมส์ โดยคาดว่าสามารถส่งน้ำเข้าเมืองได้ประมาณวันละ 200,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ไหลผ่านปงดูว์การ์นี้ถูกนำไปใช้ในบ้านเรือน, โรงอาบน้ำสาธารณะ  และน้ำพุใจกลางเมือง

 หลังจากที่จักรวรรดิโรมันล่มสลาย ปงดูว์การ์ยังมีการใช้งานเพื่อขนส่งน้ำอีกระยะหนึ่ง และหยุดการใช้งานใน ค.ศ. 6 ต่อมา แตยังคงใช้สะพานเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำ และด้วยความยิ่งใหญ่ของโครงสร้างสะพานทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 17-18มีนักท่องเที่ยวจากทั่วยุโรปสนใจมาเที่ยวชม ฉะนั้นผู้ปกครองท้องถิ่นของเมืองนีมส์จึงหารายได้จากนักท่องเที่ยวเพื่อนำเงินมาซ่อมแซมสะพานที่เริ่มผุกร่อนไปตามกาลเวลา

 ในช่วงศวรรษที่ 18-21 มีการซ่อมแซมตัวสะพานอย่างจริงจัง โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญคือ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เดินทางมาเที่ยวปงดูการ์เมื่อปี 1850 จากนั้นโปรดให้สถาปนิกของรัฐบาลฝรั่งเศสมาดูแลซ่อมแซมระหว่างปี 1855-1858 สะพานส่งน้ำแห่งนี้จึงถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ และทำพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้อย่างใกล้ชิด

ในปี 1985 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปงดูว์การ์เป็นมรดกโลกประเภทที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นสถานที่สำคัญของฝรั่งเศสทางตอนใต้

เมื่อถึงปี 2000 ทางการเมืองได้พัฒนาสถานที่แห่งนี้อย่างจริงจัง มีการตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว พร้อมทั้งพัฒนาเขตที่อยู่ใกล้สะพานไม่ให้มีการก่อสร้างอาคาร หรือมีรถเข้าไปจอดใกล้สะพาน เพราะกลัวว่ามลพิษจากรถและคราบน้ำมันจะทำให้ปงดูว์การ์เสียหาย จึงทำให้ปงดูว์การ์สามารถอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติได้ดีดังที่นพฬวรรณกล่าวข้างต้น

 ทางเดินไปสะพานปงดูการ์ร่มครึ้มด้วยแมกไม้สองข้างทางและด้านซ้ายคือร้านอาหาร

เมื่อเราจอดรถที่ที่จอดรถแล้วทุกคนจะพากันเดินไปที่สะพานปงดูว์การ์  และตามถนนที่เดินไปสะพานนั้นนับว่าเป็นทางเดินจริงๆ เพราะมีเครื่องหมายห้ามถีบจักรยานด้วย ฉะนั้นเราจะเห็นนักท่องเที่ยวบางท่านเดินจูงจักรยานกันตามทางเดินที่ทอดไปสู่ไปสะพาน  นอกจากนั้นระหว่างทางที่เดินไปยังสะพานปงดูว์การ์ยังร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้และได้ยินเสียงจากธรรมชาติคือเสียงร้องของจั๊กจั่นเรไรดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาก็ไม่มีใครส่งเสียงดังถึงแม้จะมีกลุ่มทัวร์กลุ่มใหญ่มาท่องเที่ยว  ทำให้รู้สึกเหมือนมาพักผ่อนในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติจริงๆไม่มีความเป็นเมืองที่วุ่นวายให้เห็นที่นี่  นอกจากนั้นยังมีที่นั่งพักให้กับนักท่องเที่ยวจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่นำอาหารมารับประทานกันรวมถึงครอบครัวของนพฬวรรณด้วยถึงแม้จะมีร้านอาหารอยู่หนึ่งร้านซึ่งน่าจะเป็นร้านอาหารของทางสำนักงานท่องเที่ยว แต่ร้านอาหารนี้ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์การนำอาหารมาทานจึงเป็นการดีที่ไม่ต้องไปนั่งรออาหารและได้บรรยากาศเหมือนเรามาปิคนิคในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ 


นพฬวรรณทำให้ทุกคนในครอบครัว(ฝรั่ง)ยอมรับให้ข้าวเหนียวเป็นหนึ่งในอาหารที่นำทานตอนมาเที่ยวปงดูการ์






นพฬวรรณและครอบครัวนำอาหารมาทานที่ปงดูการ์

หลังจากทานอาหารกลางวันกันเสร็จพวกเราพากันเดินขึ้นไปบนสะพานปงดูว์การ์และทางเดินขึ้นสะพานนั้นไม่ได้เป็นขั้นบันไดหากแต่เป็นทางที่ค่อยๆลาดชันไปสู่สะพานทำให้เดินขึ้นได้โดยไม่เหนื่อยมากและในอดึตสะพานนี้ใช้เป็นทางเดินข้ามแม่น้ำการ์ดงหรือข้ามไปยังหุบเขาอีกด้านหนึ่ง ฉะนั้นถ้าทางขึ้นเป็นขั้นบันได บรรดารถม้าหรือเกวียนลากคงขึ้นสะพานไปไม่ได้  


ทางเดินที่ค่อยๆลาดชันขึ้นสู่สะพานปงดูว์การ์

ทางเดินบนสะพานที่ฐานรากชั้นที่ 1 เป็นตอม่อสะพานที่มีความหนา

ระหว่างหุบเขาเป็นแม่น้ำการ์ดงแต่เมื่อมองไปที่แม่น้ำจะเห็นได้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอดเมื่อปีที่ 2014แล้วมาเที่ยวที่นี่ช่วงเดือนกรกฎาคมก็มีน้ำประมาณนี้คะ (แต่ในประวัติศาสตร์แม่น้ำแห่งนี้ไม่ได้แห้งขอดเช่นนี้เป็นเพราะเวลาผ่านมานับพันปีทำให้ภูมิศาสตร์เปลี่ยนส่งผลให้น้ำในแม่น้ำตื้นเขินลง)  และถึงแม้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอดแต่นพฬวรรณก็เห็นนักท่องเที่ยวบางคนใส่ชุดว่ายน้ำลงไปเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน (แต่นพฬวรรณไม่ได้ใส่ชุดว่ายน้ำลงไปเล่นน้ำนะคะ เพราะไม่อยากเป็นปลาพะยูนเกยตื้น..อิอิ)  
จากกลางสะพานมองมาที่แม่น้ำการ์ดงจะเห็นได้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอด
นักท่องเที่ยวบางส่วนลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำการ์ดง

เมื่อเดินข้ามสะพานมาอีกฝั่งของแม่น้ำก็มีทางเดินไปพิพิพิธภัณฑ์และระหว่างทางเดินไปพิพิพิธภัณฑ์ก็มีสิ่งที่น่าสนใจและ ภายในพิพิธภัณฑ์ก็มีประเด็นและความน่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับการจัดทำสื่อ มัลติมีเดียต่างๆที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสะพานปงดูว์การ์ ถ้านพฬวรรณจะเขียนให้หมดในตอนนี้ก็จะเป็นบทความที่ยาวเกินไป ถ้าเช่นนั้นนพฬวรรณขอไปเขียนเล่าถึงประเด็นดังกล่าวและค่าบริการที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายในการเข้าชมสะพานปงดูว์การ์นี้ใน"นพฬวรรณพาเที่ยวสะพานส่งน้ำ Pont du Gard ตอนที่ 2" ..อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ..


.



วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

MUGUET ดอกไม้สัญญลักษณ์ของวันแรงงานในประเทศฝรั่งเศส

เช้าวันที่ 1 พค.นพฬวรรณก็ได้รับดอกมูเก้จากคุณสามี

เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 1 พฤษภาคม (เมย์เดย์) ของทุกปีเป็นวันแรงงานสากล ซึ่งประเทศในยุโรปส่วนมากและประเทศไทยก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานสากลเช่นกัน ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน

ในเมื่อประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสมีวันแรงงานตรงกัน ผู้อ่านคงสงสัยล่ะซิว่าในเมื่อมีวันแรงงานตรงกันแล้วนพฬวรรณจะเขียนถึงวันแรงงานที่ฝรั่งเศสทำไม ทำไมไม่เขียนเรืองไปเที่ยวสเปนซะที..ก็เพราะว่าที่สเปนมีประเด็นที่น่าเขียนถึงหลายประเด็นซึ่งนพฬวรรณต้องใช้เวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมและใช้เวลาในการเขียนค่ะ งั้นรอหน่อยนะคะ ไว้เรียนจบคอร์สภาษาฝรั่งเศสคงมีเวลาที่จะหาข้อมูลและเขียนบล็อกมากขึ้น

ตอนนี้เรากลับมาที่เรื่องวันแรงงานที่ฝรั่งเศสดีกว่า ที่นี่มีประเด็นที่แตกต่างจากบ้านเราอยู่ 2 ประเด็นคือ

 1. ที่ฝรั่งเศสวันแรงงานถือเป็นวันหยุดราชการด้วย :

ที่บ้านเราวันแรงงานแห่งชาตินั้น ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นหน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่หยุดจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชนเท่านั้น ส่วนที่ฝรั่งเศสวันแรงงานที่นี่ถือเป็นวันหยุดราชการด้วย ฉะนั้นคุณสามีซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจจึงหยุดงานในวันนี้และนพฬวรรณ ซึ่งตอนนี้มีมีบทบาทของชาวต่างชาติที่เรียนภาษาฝรั่งเศสจึงหยุดเรียนไปด้วย และประเทศต่างๆส่วนมากรวมถึงประเทศอเมริกาก็นับว่าวันแรงงาน เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน แต่บ้านเราไม่นับเป็นวันหยุดราชการหรือเมืองไทยเราตีความหมายว่าข้าราชการเป็นผู้ใช้แต่สมองทำงานไม่ได้ใช้แรงงานทำงานจึงไม่ต้องหยุดเฉลิมฉลอง..อิอิ..(ข้อนี้แค่สงสัยเรื่องการตีความของวันหยุดในวันแรงงานของประเทศไทยเท่านั้นนะคะ..ไม่ได้ล้อเลียนอะไรนะ..คริ คริ..)

2.สัญลักษณ์ของวันแรงงานในฝรั่งเศสคือดอกมูเก้ (Muguet de mai : มูเก้แห่งเดือนพฤษภาคม) :

เมื่อนพฬวรณตื่นนอนของเช้าวันที่1 พค. พอลงมาข้างล่างคุณสามีก็ยื่นกระถางดอกไม้ซึ่งมีดอกสีขาวเล็กๆ มีใบสีเขียวเรียวๆยาว และที่สำคัญดอกไม้มีกลิ่นหอมมาก นพฬวรรณก็สงสัยอ่ะดิว่าให้ทำไมเนี่ยเพราะปกติคุณจะสามีจะไม่ให้ดอกไม้พร่ำเพรือแต่จะให้ในวันสำคัญๆ เท่านั้นอย่างเช่นวันสตรีสากลที่ผ่านมา (8มีนาคม) เธอก็ซื้อดอกไม้ให้..แล้ววันนี้ให้เนื่องในโอกาสอะไรล่ะนั่น หรือให้เพราะว่านพฬวรรณป่วยไอแค๊กๆมาหลายวันถ้าจะให้เพราะป่วยก็น่าจะให้ตอนที่ไอจนแสบคอ ท้องไส้ระบบไปหมด..ยังไม่ทันถามว่าให้ทำไมเนี่ยคุณเธอก็บอกว่า "Bonne fête du travail" แปลว่าสุขสันต์วันแรงงานครับ..อ๋อหรา..แต่ก็สงสัยแป๊บ..คิดว่าชั้นเป็นแรงงานในบ้านหรอถึงมาให้ดอกไม้วันแรงงานแก่ฉัน ห่ะ..คุณริชาร์ด..


คุณสามีเลยต้องอธิบายว่าเป็นธรรมเนียมของคนฝรั่งเศสที่จะมอบดอกมูเก้ให้แก่กันในวันแรงงาน นพฬวรรณจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงสรุปได้ว่า ดอกมู้เก้หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lily of the Valley หรือ ระฆังน้อยแห่งหุบเขา(Lily : ลิลลี่ไม่ได้แปลว่าระฆังซะหน่อยแต่ที่เรียกระฆังน้อยน่าจะมาจากลักษณะของดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับระฆังใบน้อยๆ นั่นเอง)  ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มีใบเรียวยาวคล้ายต้นหญ้า ส่วนกิ่งเล็ก ๆ ซึ่งทอดขนานไปกับใบนั้นจะมีดอกมูเก้สีขาวที่มีลักษณะเหมือนระฆังใบเล็กๆเกาะเรียงรายอย่างสวยงาม และที่ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วท้องทุ่งในเดือนพฤษภาคม


ดอกมูเก้มีเป็นดอกเล็กๆสีขาวมีลักษณะคล้ายกับระฆัง

นอกจากนั้นชาวฝรั่งเศสเชื่อกันว่าดอกมูเก้เป็นดอกไม้ที่นำมาซึ่งความสุข และจากการที่ดอกมูเก้ออกดอกปีละ 1 ครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนจึงนับว่าเป็นดอกไม้แห่งเดือนพฤษภาคม  ชาวฝรั่งเศสจึงนิยมดอกมูเก้นำมามอบให้กันในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน เพื่อนำความสุขให้กันในการทำงานต่อไป

ความสำคัญของดอกมูเก้ยังไม่หมดคะ เพราะดอกมูเก้ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่หวนคืนมา หรือความอ่อนหวานที่ช่วยเติมให้ชีวิตสมบูรณ์ จึงมักถูกใช้ประดับในช่อดอกไม้หรือผมของเจ้าสาวดอกมูเก้เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาทำยานานนับศตวรรษแล้ว ปัจจุบันนิยมมาผสมในเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย และนพฬวรรณขอยืนยันว่ากลิ่นหอมจริงๆค่ะ






วางดอกมูเก้ไว้ในห้องรับแขกเมื่อไปนั่งตรงโต๊ะรับแขก
จะได้กลิ่นหอมละมุนของดอกมูเก้เลยคะ

วันแรงงานแห่งชาติกับการใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสในช่วงปีแรกของนพฬวรรณนี้ ถึงแม้ว่านพฬวรรณจะยังไม่ได้ทำงานอะไรแต่นพฬวรรณก็ได้รับดอกมูเก้ซึ่งนับเป็นดอกไม้แห่งความสุขในวันแรงงาน, ดอกไม้แห่งเดือนพฤษภาคม(Muguet de mai) หรืออาจกล่าวได้ว่าดอกไม้ตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิที่สวยงามและมีความสุข ฉะนั้นนพฬวรรณขอขอบคุณคุณสามีสำหรับดอกไม้สวยๆและมีกลิ่นหอมในวันแรงงาน(La Fête du Travail) หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "วันมูเก้" (La Fête du Muguet) ของประเทศฝรั่งเศสก็ได้ และขอบคุณอีกครั้งที่เปฺิดโอกาสให้นพฬวรรณได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและธรรมเนียมของโลกในอีกซึกหนี่ง  ซึ่งนับเป็นประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วยเงิน.. "สุขสันต์วันแรงงาน" นะคะทุกๆคน






วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสปี 2015 (élection départementales 22 et 29 mars 2015)



ใบปลิวของผู้สมัครเลือกตั้งที่มาใส่ในตู้รับจดหมายของที่บ้าน ซึ่งบอกผลงานของผู้สมัครและนโยบายของพรรค
ช่วงนี้นพฬวรรณห่างหายจากการเขียนเล่าเรื่องฝรั่งเศสไปนานเกือบเดือนไม่ใช่ไม่มีประเด็นให้เขียนแต่นพฬวรรณต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็นและ สุดสัปดาห์ก็มีกิจกรรมให้ทำมากมาย(พูดง่ายๆไม่ว่างคะแต่เขียนซะเวิ้นเว้อ..อิอิ) แต่วันนี้หลังจากทานอาหารเย็นนพฬวรรณไม่คุยกับใครแล้ว เพราะมีประเด็นที่นพฬวรรณไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเขียนถึงคือเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ  นพฬวรรณได้มาอาศัยร่มใบบุญของประเทศฝรั่งเศสอยู่ นพฬวรรณจึงควรที่จะเรียนรู้ระบบการเลือกตั้งของที่นี่และอีกอย่างก็ต้องการให้เพื่อนๆที่เมืองไทยได้เห็นระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ และการเลือกตั้งท้องถิ่นของที่นี่ก็มีบางประเด็นที่แตกต่างจากบ้านเราซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เป็นวันอาทิตย์คุณสามีบอกว่าช่วงบ่ายจะออกไปเลือกตั้งนพฬวรรณก็หูผึ่งเลย เลือกตั้งอะไรไม่เห็นรู้เรื่องเลย (จะรุู้เรื่ิองได้ยังไงก็นพฬวรรณยังฟังและอ่านข่าวภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ เลย..อิอิ) นพฬวรรณเลยซักถามคุณสามีเป็นการใหญ่และสรุปใจความได้ว่า เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัด(département) และหลังจากตามคุณสามีไปเลือกตั้ง รวมถึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆทำให้นพฬวรรณสรุปได้ถึงระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสได้ดังนี้



ภาพโปสเตอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ติดบริเวณที่ทางการจัดให้
1. เรื่องแรก แบบง่ายๆเห็นชัดๆเลยคือ บ้านเค้าไม่มีการติดป้ายโฆษณาผู้สมัครรับการเลือกตั้งตามถนนหนทางแบบบ้านเรา แต่จะติดโปสเตอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งขนาด 1 * 1.20 เมตรที่บริเวณที่ทางการกำหนดให้ซึ่งอาจเป็นบริเวณคูหาที่ทำการเลือกตั้งหรือ บริเวณศูนย์กลางของเมืองเท่่่านั้น และไม่มีรถยนต์ที่ติดเครื่องกระจายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้าน ถ้าอย่างนั้นประชาชนเค้าจะรู้จักผู้รับสมัครเลือกตั้งได้อย่างไร  ที่นี้ต้องเดือดร้อนคุณสามีที่ต้องตอบคำถามของภรรยาขี้สงสัย..

ที่นี่ทางการจะแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะมีการเลือกตั้งทางโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ ส่วนแต่ละพรรคการเมืองจะให้ประชาชนทราบนโยบายของตนเองโดยหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะกล่าวถึงนโยบายของพรรคตามสื่อต่างๆเช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และมีเว็บไซต์ของพรรค(บ้านเราก็มี) รวมถึงทางพรรคยังได้จัดทำใบปลิวที่มีรูปผู้สมัครและเขียนถึงนโยบายของพรรค ใส่ที่ตู้รับจดหมายของแต่ละบ้านนอกจากนั้นผู้สมัครบางพรรคและลูกทีมอาจไปตาม ตลาดที่มีผู้คนเยอะเพื่อพูดคุยและแจกใบปลิว

จากการที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่ให้ผู้สมัครติดป้ายโฆษณาใหญ่โต และติดป้ายโฆษณาทั่วไปแบบบ้านเรานพฬวรรณคิดในมุมมองของตนเองว่านอกจากเป็นการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว นพฬวรรณคิดว่ายังมีอีก 2เหตุผลตามมุมมองของนพฬวรรณดังนี้

1.1ลักษณะการเมืองของฝรั่งเศสน่าจะเป็นแบบ "พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค" เพราะจากการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการชูนโยบายของพรรคและหัวหน้าพรรคมากกว่าผู้ลงสมัครแต่ละพรรค  และในการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้พรรคใดชนะนับว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2560 และในการเลือกผู้สมัครของคุณสามีนี้นับว่าช่วยยืนยันความคิดของนพฬวรรณเพราะคุณสามีบอกว่าเธอไม่รู้จักผู้สมัครว่าเป็นใครแต่เลือกเพราะเลือกนโยบายของพรรค และอยากเปิดโอกาสให้พรรคนี้ได้เข้ามาทำงานบ้าง(พรรคที่คุณสามีเลือกหัวหน้าพรรคไม่เคยได้เป็นประธานาธิบดี และการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ได้ในรอบแรกพรรคของเธอได้รับเลือกเป็นอันดับสอง  พรรคที่ได้ที่ลำดับที่หนึ่งหัวหน้าพรรคคือ นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส

1.2 การที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งติดป้ายประกาศทั่วไปและมีรถยนต์ที่ติดเครื่องกระจายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้าน ไม่ใช่บ้านเราไม่มีระเบียบแต่นพฬวรรณคิดว่าอาจเป็นเพราะประชากรในบ้านเรายังมีผู้ไม่รู้หนังสือและก็มีประชากรบางส่วนที่ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการอ่าน เช่นบางบ้านอาจจะได้ใบปลิวจากผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่เคยอ่านหรือผู้สูงอายุบางท่านอ่านหนังสือไม่ออก และก็มีประชากรไทยอีกหลายคนที่ไม่เคยอ่านนโนบายของพรรคต่างๆในหนังสือ พิมพ์/ในเว็บไซต์ หรือไม่เคยฟังวิทยุที่บอกกล่าวเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง ฉะนั้นการแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นสามารถเข้าถึงทุกคนโดยที่คนไม่สนใจที่รับรู้ก็ได้รับรู้เพราะป้ายรูปผู้สมัครใหญ่ซะขนาดนั้นและติดไปทั่วมุมเมืองจะไม่เห็นได้อย่างไร..อิอิ
..และขณะที่รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้านจะยินกันทุกคน ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจฟังก็ตาม

2. เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมาทำงานด้านการเมืองได้เท่าเทียมผู้ชาย : ครั้งแรกที่นพฬวรรณเห็นโปสเตอร์โฆษณาผู้ลงสมัครเลือกตั้งแต่ละพรรคเป็นภาพของผู้หญิงคู่กับผู้ชายนั้น ทำให้นพฬวรรณคิดว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสทำงานด้านการเมืองได้เท่าเทียมกับผู้ชาย  และนพฬวรรณก็เคยอ่านเอกสารการสัมมนาเกียวกับสิทธิความเสมอภาคทางการเมืองระหว่างหญิงและชายในประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสมีความชัดเจนในเรื่องการให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรีอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นการเสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปแบบหญิง 1 ชาย 1 เมื่อปี ค.ศ. 1994 ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 มีรัฐมนตรีหญิงฝรั่งเศส 10 คน ซึ่งนับเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายทางการเมือง(อ้างอิงสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) และในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้น่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งแบบหญิง 1 ชาย 1 เป็นแน่แท้  เมื่อมั่นใจว่าข้อมูลตัวเองไม่พลาดจึงได้ถามคุณสามีเพื่อความแน่ใจ คำตอบที่ได้คือ ถูกต้องครับ และการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบกำหนดให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งแบบหญิง 1 ชาย 1 นี้เพิ่งจะเริ่มมีปีนี้เป็นปีแรก..(วิเคราะห์เก่งนะเนี่ยนพฬวรรณ..อิอิ..)  และนพฬวรรณก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาทำงานด้านการเมืองควบคู่ไปกับผู้ชายตั้งแต่ระดับท้องถิ่น นพฬวรรณชอบประเทศนี้ก็ตรงที่เห็นภาพของความเสมอภาคระหว่าหญิงและชายได้ชัดเจน แล้วประเทศไทยของเราล่ะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีความเสมอภาคกับผู้ชายได้ถึงไหนแล้ว อย่าลืมนะว่าผู้หญิงก็มีความรู้  ความสามารถและมีจิตใจที่เข้มแข็งไม่ต่างจากผู้ชาย..จริงป่ะ ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น..ฮิ้ว ฮิ้ว..

3.ประเทศฝรั่งเศสมีระบบการเลือกตั้งสองรอบ(Two ballot majority : ภาษาฝรั่งเศส Scrutin uninominal majoritaire à deux tour ) หลังกลับจากเลือกตั้งท้องถิ่นวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม คุณสามีก็บอกว่าเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่เสร็จวันอาทิตย์หน้าต้องมาเลือกอีก...นพฬวรรณ (งงแป๊บ ก็บ้านฉันเลือกครั้งเดียวใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้ไป อะไรกันประเทศเธอนี่เยอะนะ)..คุณสามีเลยพยายามอธิบายให้เข้าใจ นพฬวรรณก็เข้าใจแบบไม่เข้าใจ..หุ หุ..ก็นพฬวรรณไม่ได้จบการศึกษาเกี่ยวกับด้านการเมืองและนพฬวรรณก็ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย จะเข้าใจมั๋ยล่ะนั่นแต่นพฬวรรณเป็นคนประเภทถ้ามีข้อมูลที่ค้างคาใจแล้วหาคำตอบไม่ได้เป็นนอนไม่หลับ ฉะนั้นพอกลับมาถึงบ้านนพฬวรรณจึงนำคำพูดคุณสามีมาประติดประต่อแล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้สรุปได้ว่า

ระบบการเลือกตั้งสองรอบนั้น ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก( first ballot : ภาษาฝรั่งเศส Au premier tour)จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นๆหากผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ( absolute  majority : ภาษาฝรั่งเศส majorité absolue)จากผู้มาลงคะแนนคือ เกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาลงคะแนนจะได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทันที โดยมีเงื่อนไขว่า คะแนนของผู้มาใช้สิทธิ์ให้กับผู้สมัครที่ได้รับเลือกนั้นเมื่อรวมกันจะต้องมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้น นับผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิ์ด้วย ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบที่สอง ( second ballot : ภาษาฝรั่งเศส Au deuxième tour) ใน 8 วันต่อมา โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกในแต่ละจังหวัดมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าก็จะชนะการเลือกตั้ง ..ตอนนี้นพฬวรรณถึงบางอ้อแล้ว เข้าใจแล้วคะว่าทำไมคุณสามีบอกว่าอาทิตย์หน้าต้องมาเลือกตั้งอีกเพราะการที่ผู้สมัครจะชนะผูสมัครท่านอื่นแบบมากกว่าร้อยละ 50นั้นมันทำกันยากนะต้องชนะแบบขาดลอยไปเลย และในการเลือกตั้งครั้งนี้ของฝรั่งเศสการเลือกตั้งรอบแรกพรรคสหภาพเพื่อขบวนการประชาชน (Union for a Popular Movement :  UMP) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 29.7 ตามด้วยพรรคแนวร่วมแห่งชาติ(Front National :FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวขวาจัดของนางมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) และได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 25 พลิกความคาดหมายของหลายฝ่ายพอสมควร เนื่องจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (FN)มีคะแนนนิยมนำมาตลอดช่วงเวลาของการหาเสียง  ส่วนพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste : PN) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลฝรั่งเศสชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์(François Hollande)ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ร้อยละ 20

ในการลงคะแนนเสียงรอบที่สอง วันที่ 29 มีนาคม ปรากฎว่าพรรคที่รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดคือ
พรรคสหภาพเพื่อขบวนการประชาชน(UMP) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี
โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก 67 จังหวัด ส่วนอันดับที่2 ได้แก่พรรคของประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ
 พรรคสังคมนิยม (PN) ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 34 จังหวัด และเป็นที่น่าเสึยดายที่พรรคแนวร่วม
แห่งชาติ (FN)ที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าพรรคไม่สามารถชนะการแข่งขันในจังหวัดใดๆเลย และต่อไปเรา
ก็มาตามดูกันว่าการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2560 จะเป็นอย่างไร อดีตประธานาธิบดี
นิโกลาส์ ซาร์โกซี จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสอีกหรือไม่ และอีกตั้ง 2 ปีนพฬวรรณ
กับคุณสามีอาจย้ายกลับไปอยู่เมืองไทยก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นพฬวรรณคงไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งของฝรั่งเศสเท่าไหร่นัก หากแต่ว่าไปติดตามการเมืองของประเทศไทยแทน ซึ่งนพฬวรรณก็หวังว่าเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยเราจะไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น มีประชาธิปไตยเต็มใบแบบไม่มีการทะเลาะกันหรือมีการประท้วงกันกลับไปกลับมานะ สาธุ....

4. ขั้นตอนการลงคะแนนเสียงที่ทำให้เกิดการทุจริตและทำให้บัตรลงคะแนนชำรุดได้น้อย
 ขั้นตอนการลงคะแนนของไทยและของฝรั่งเศสจะคล้ายกันแต่มีประเด็นที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งส่วน
ที่แตกต่างนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งและก่อนที่นพฬวรรณจะชี้ให้เห็นจุด
ที่แตกต่าง นพฬวรรณขอเล่าถึงขั้นตอนที่คุณสามีไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนนะคะ 


คูหาเลือกตั้งที่บังด้วยม่าน นพฬวรรณไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่อนุญาติให้เข้าไปกับคุณสามีได้
 เริ่มจากก่อนออกจากบ้านคุณสามีได้เตรียมบัตรประชาชนและบัตรลงทะเบียนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
 (Carte électorale) บัตรนี่ทางการจะส่งมาให้ทางไปรษณีย์ ฉะนั้นจึงไม่มีการติดรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่บริเวณที่คูหาเลือกตั้งเพื่อให้ไปเช็คชื่อก่อนการลงคะแนนเหมือนที่บ้านเรา 

คูหาเลือกตั้งของเทศบาลที่นพฬวรรณอาศัยอยู่มีตำรวจท้องถิ่น (Municipale :ผู้อ่านคงจำตำรวจMunicipaleที่นพฬวรรณได้เขียนถึงในตอนสถานีตำรวจของฝรั่งเศสไปแล้วได้นะคะ ) ใส่ชุดสีน้ำเงิน ยืนหน้าดุอยู่หน้าคูหาเลือกตั้ง 2 คนข้างในอีก 1คน สภาพการณ์ก็คล้ายๆกับบ้านเรานี่แหละคะ พอเข้าไปข้างในจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ 2 จุด จุดแรกเป็นทางเข้ามีเจ้าหน้าที่ และตำรวจนั่งอยู่ เจ้าหน้าที่จะให้บัตรของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมซองสีน้ำตาลหลังจากนั้นเราก็จะเข้าไปในคูหาหรือหน่วยลงบัตรเลือกตั้ง ซึ่งจะถูกปิดปังจากการมองเห็นด้วยผ้าม่าน แล้วเราก็จะสอดบัตรของผู้สมัครที่เราเลือกใส่ไว้ในซองจดหมาย ต่อจากนั้นเราก็จะเดินไปยังหีบบัตรเลือกตั้งและแสดงบัตรลงทะเบียนของผูู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของเรา และมีเจ้าหน้าที่อยู่หลังที่หีบบัตรเลือกตั้งที่โปร่งใส นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ 2-3 คนเพื่อตรวจสอบเอกสารระบุเอกลักษณ์ตนเองของผู้ลงคะแนนเสียงในกรณีของคุณสามีแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ต่อเจ้าหน้าที่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะรับรองสิทธิในการลงคะแนนเสียงและให้เราหย่อนซองจดหมาย ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้ง จากนั้นคุณสามีจะต้องเซ็นลงในรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในเอกสารเพื่อหลีกเลี่ยงการลงคะแนนซ้อน และบัตรลงทะเบียน(Carte électorale)จะถูกประทับตรา และลงวันที่ที่เราไปลงคะแนนการเลือกตั้ง


สีขาวคือบัตรลงทะเบียนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (Carte électorale) ส่วนซองน้ำตาลคือซองที่เราใส่บัตรของผู้สมัครที่เราเลือก


คุณสามีขณะหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งที่โปร่งใส เจ้าหน้าที่ก็ใจดีเหลือเกินอนุญาติให้นพฬวรรณถ่ายรูปได้
 จากขั้นตอนการลงทะเบียนนี้ขั้นตอนที่ทำให้ยากต่อการทุจริตและทำให้บัตรลงคะแนนชำรุดได้น้อย
หรือไม่สมบูรณ์คือ

4.1 การให้บัตรผู้รับสมัครและให้ซองสีน้ำตาล : ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงแต่เลือกบัตรผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ที่ตนเองเลือกใส่ซองน้ำตาล (ไม่ต้องกาบาทตรงหมายเลขแบบบ้านเราฉะนั้นโอกาสที่จะเลือกผิดมีน้อยมาก) และการนำบัตรที่เราเลือกใส่ซองน้ำตาลอีกทีโอกาสที่บัตรจะชำรุดก็มีน้อยมากเช่นกัน แต่การจะใช้วิธีแบบนี้ก็มีข้อจำกัดกล่าวคือ ประชากรที่มาลงคะแนนเลือกตั้งถ้าอ่านหนังสือไม่ออกจะไม่สามารถเลือกได้ ถ้าเช่นนั้นวิธีการนี้จึงไม่เหมาะสมกับบ้านเราเพราะบ้านเรายังไม่ได้ปลอดผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ฉะนั้นจึงเป็นการดีที่ให้คนจำตัวเลขของผู้รับสมัครเลือกตั้งแล้วมากากบาท ลองคิดดูนะ ถ้าคนอ่านหนังสือไม่ออกแล้วมาใช้วิธีการใช้บัตรอย่างของประเทศฝรั่งเศสที่มีแต่ตัวอักษรแล้วพอรับบัตรมาจากเจ้าหน้าที่ ที่นี่ก็จะงงกันล่ะ...ไม่รู้ว่าบัตรไหนเป็นของผู้สมัครคนใดหรือของพรรคไหน..แล้วก็คงไม่รู้ว่าจะเอาบัตรใบไหนไปใส่ซองดี..หุ หุ
4.2 การที่หีบบัตรเลือกตั้งโปร่งใส นับว่ามีส่วนช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้ เพราะมันโปร่งใส ฉะนั้นการที่ใครจะมาใช้เทคนิคหรือกลโกงในการทุจริตคงไม่ง่าย แต่หีบบัตรโปร่งใส่ก็เหมาะกับบัตรเลือกตั้งที่ใส่ในซองสีน้ำตาล เพราะถ้าเป็นแบบกากบาทแล้วพับกระดาษโอกาสที่กระดาษจะอ้าออกก็จะมีเมื่อกระดาษอ้าออกโอกาสเห็นหมายเลขที่กากบาทก็มีบ้าง แต่ถ้าอยู่ในซองคงไม่ออกมาง่ายๆหรอก ว่าป่ะ..อิอิ..

ฉะนั้น การจัดระบบการเลือกตั้งแบบบ้านเราก็เหมาะกับสภาพของประชากรบ้านเราในปัจจุบันแต่
นพฬวรรณหวังว่าวันข้างหน้าประเทศไทยเราจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆประชากรของประเทศไทยจะปลอดผู้ไม่รู้หนังสือ 100 % และประชากรส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีระบบการเมืองที่โปร่งใส ซึ่งนพฬวรรณหวังคงว่าจะได้เห็นเร็วๆนี้นะ..และสุดท้ายที่นพฬวรรณอยากจะกล่าวคือ ขอขอบคุณคุณสามีมากๆที่ช่วยสืบค้นข้อมูลภาษาฝรั่งเศสให้ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งของเทศบาลเมือง Aigue Mortes ที่กรุณาให้นพฬวรรณเข้าไปถ่ายรูปในคูหาเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะไม่ได้อ่านบล็อกนี้เพราะนพฬวรรณเขียนเป็นภาษาไทยแต่นพฬวรรณก็หวังว่าพวกท่านคงรับรู้ได้ว่า
นพฬวรรณขอบคุณมากๆคะ Merci beaucoup ..