วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นพฬวรรณพาเที่ยวสะพานส่งน้ำ Pont du Gard ตอนที่ 1


   ส่วนมากคนถ่ายรูปในบริเวณนี้เพื่อให้เห็นสะพานปงดูว์การ์เป็นแบคกราวน์ของภาพ

นพฬวรรณเขียนบล็อกมาหลายตอนส่วนมากจะเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนมธรรมเนียมและวัฒนธรรมของคนฝรั่งเศสที่นพฬวรรณได้พบเจอเมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสตอนใต้ แต่การเขียนบล็อกตอนนี้นพฬวรรณจะเขียนเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวบ้างนะคะ..ซึ่งสถานที่ที่นพฬวรรณจะเขียนถึงคือ สะพานส่งน้ำปงดูว์การ์ (Pont du Gard)

สะพานส่งน้ำปงดูว์การ์นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของแคว้นล็องด็อก-รูซียง  (Languedoc-Roussillon) ซึ่งสะพานนี้สร้างพาดผ่านแม่น้ำการ์ดงในเขตเมืองนีมส์ (Nîmes) ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดการ์ (Gard) และบ้านนพฬวรรณที่ฝรั่งเศสอยู่ที่เทศบาล Aigues Mortes ซึ่งขึ้นกับเมืองนิมส์ นพฬวรรณจึงไปเที่ยวสะพานส่งน้ำปงดูว์การ์เป็นครั้งที่2 แล้ว และถ้ามีโอกาสนพฬวรรณก็จะกลับไปอีกเพราะที่ปงดูว์การ์ยังคงอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติได้ดี ทุกครั้งที่ไปได้ยินเสียงจักจั่นเรไรด้วยคะ อากาศดีสดชื่นและที่สำคัญเราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ จากสื่อมัลติมิเดียต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์ของปงดูว์การ์ ซึ่งนพฬวรรณคิดว่าเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ทันสมัยทำให้เราสามารถเรียนรู้และจินตนาการ ได้ถึงการสร้างสะพาน ความยิ่งใหญ่และประโยชน์ของสะพานแห่งนี้ในประวัติศาสตร์ได้คะ

ปงดูว์การ์ เป็นสะพานส่งน้ำที่สร้างโดยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งหากเป็นสมัยนี้ก็คือท่อประปานั่นเอง โดยสร้างพาดผ่านแม่น้ำการ์ดง  ซึ่งสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งน้ำของเมืองนีมส์ ซึ่งมีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร โดยส่งน้ำจากจากเมืองอูว์แซ็ส (Uzés)ไปยังเมืองนีมส์แต่ระหว่างเมืองอูว์แซ็สและเมืองนีมส์ภูมิประเทศเป็นหุบเขาและมีแม่น้ำการ์ดงอยู่ระหว่างหุบเขา ระบบส่งน้ำที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จึงย้ายมาสร้างอยู่บนสะพานเพื่อข้ามผ่านแม่น้ำการ์ดง

โครงสร้างของปงดูการ์เป็นรูปแบบสะพานหิน 3 ชั้น
โครงสร้างของปงดูว์การ์เป็นรูปแบบสะพานหิน 3 ชั้น ความสูงทั้งหมด 48.8 เมตร แต่ละชั้นมีความสูงแตกต่างกัน บนชั้นที่ 3 ซึ่งสูงสุดมีความยาวจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งประมาณ 50 เมตร สร้างด้วยก้อนหินสกัดเป็นสี่เหลี่ยมแล้วนำมาสร้างต่อกัน โดยฐานรากชั้นที่ 1 เป็นตอม่อสะพานที่มีความหนาซึ่งส่วนนี้ทำเป็นสะพานสำหรับเดินทางข้ามแม่น้ำการ์ดงไปอีกฝั่งหนึ่ง ชั้นที่ 2 จะเริ่มเล็กลง และชั้นบนสุดเป็นตอม่อขนาดเล็กลงที่เรียงกันเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับท่อส่งน้ำขนาดเล็ก

นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสคาดการณ์ว่า ผู้ที่คุมการก่อสร้างสะพานส่งน้ำแห่งนี้คือ Mercus Vipsanius Agrippa  เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านวิศวกรรม และเป็นบุคคลสำคัญของจักรพรรดิAugustus  กษัตริย์ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันยุคที่มีความเจริญสูงสุด ทั้งนี้มาร์คัสเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลด้านการหาแหล่งน้ำและส่งน้ำเข้ามายังกรุงโรม และดินแดนอาณานิคม ซึ่งรวมทั้งทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่ามาร์คัสน่าจะเป็นผู้ทีทำการดูแลก่อการสร้างสะพานแห่งนี้ โดยเริ่มสร้างเมื่อ 19 ปีก่อนคริสต์กาล และใช้เวลา15 ปีจึงแล้วเสร็จ ใช้คนงานไม่ต่ำกว่า 1000 คน (ใช้เวลาสร้างถึง 15ปีฉะนั้นถ้าจะจำว่าสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 1อย่างที่วิกิพิเดียกล่าวว่าก็น่าจะจำได้ง่ายกว่านะคะ)

รูปแบบการก่อสร้างของปงดูว์การ์ที่สร้างมานานกว่า 2,000 ปีนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นความชาญฉลาดในการออกแบบของวิศวกรสมัยโบราณที่สามารถ สร้างขึ้นโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ ทำให้สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตแห่งนี้นำมาใช้เป็นประโยชน์ให้กับประชากรในเมืองนีมส์ โดยคาดว่าสามารถส่งน้ำเข้าเมืองได้ประมาณวันละ 200,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ไหลผ่านปงดูว์การ์นี้ถูกนำไปใช้ในบ้านเรือน, โรงอาบน้ำสาธารณะ  และน้ำพุใจกลางเมือง

 หลังจากที่จักรวรรดิโรมันล่มสลาย ปงดูว์การ์ยังมีการใช้งานเพื่อขนส่งน้ำอีกระยะหนึ่ง และหยุดการใช้งานใน ค.ศ. 6 ต่อมา แตยังคงใช้สะพานเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำ และด้วยความยิ่งใหญ่ของโครงสร้างสะพานทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 17-18มีนักท่องเที่ยวจากทั่วยุโรปสนใจมาเที่ยวชม ฉะนั้นผู้ปกครองท้องถิ่นของเมืองนีมส์จึงหารายได้จากนักท่องเที่ยวเพื่อนำเงินมาซ่อมแซมสะพานที่เริ่มผุกร่อนไปตามกาลเวลา

 ในช่วงศวรรษที่ 18-21 มีการซ่อมแซมตัวสะพานอย่างจริงจัง โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญคือ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เดินทางมาเที่ยวปงดูการ์เมื่อปี 1850 จากนั้นโปรดให้สถาปนิกของรัฐบาลฝรั่งเศสมาดูแลซ่อมแซมระหว่างปี 1855-1858 สะพานส่งน้ำแห่งนี้จึงถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ และทำพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้อย่างใกล้ชิด

ในปี 1985 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปงดูว์การ์เป็นมรดกโลกประเภทที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นสถานที่สำคัญของฝรั่งเศสทางตอนใต้

เมื่อถึงปี 2000 ทางการเมืองได้พัฒนาสถานที่แห่งนี้อย่างจริงจัง มีการตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว พร้อมทั้งพัฒนาเขตที่อยู่ใกล้สะพานไม่ให้มีการก่อสร้างอาคาร หรือมีรถเข้าไปจอดใกล้สะพาน เพราะกลัวว่ามลพิษจากรถและคราบน้ำมันจะทำให้ปงดูว์การ์เสียหาย จึงทำให้ปงดูว์การ์สามารถอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติได้ดีดังที่นพฬวรรณกล่าวข้างต้น

 ทางเดินไปสะพานปงดูการ์ร่มครึ้มด้วยแมกไม้สองข้างทางและด้านซ้ายคือร้านอาหาร

เมื่อเราจอดรถที่ที่จอดรถแล้วทุกคนจะพากันเดินไปที่สะพานปงดูว์การ์  และตามถนนที่เดินไปสะพานนั้นนับว่าเป็นทางเดินจริงๆ เพราะมีเครื่องหมายห้ามถีบจักรยานด้วย ฉะนั้นเราจะเห็นนักท่องเที่ยวบางท่านเดินจูงจักรยานกันตามทางเดินที่ทอดไปสู่ไปสะพาน  นอกจากนั้นระหว่างทางที่เดินไปยังสะพานปงดูว์การ์ยังร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้และได้ยินเสียงจากธรรมชาติคือเสียงร้องของจั๊กจั่นเรไรดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาก็ไม่มีใครส่งเสียงดังถึงแม้จะมีกลุ่มทัวร์กลุ่มใหญ่มาท่องเที่ยว  ทำให้รู้สึกเหมือนมาพักผ่อนในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติจริงๆไม่มีความเป็นเมืองที่วุ่นวายให้เห็นที่นี่  นอกจากนั้นยังมีที่นั่งพักให้กับนักท่องเที่ยวจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่นำอาหารมารับประทานกันรวมถึงครอบครัวของนพฬวรรณด้วยถึงแม้จะมีร้านอาหารอยู่หนึ่งร้านซึ่งน่าจะเป็นร้านอาหารของทางสำนักงานท่องเที่ยว แต่ร้านอาหารนี้ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์การนำอาหารมาทานจึงเป็นการดีที่ไม่ต้องไปนั่งรออาหารและได้บรรยากาศเหมือนเรามาปิคนิคในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ 


นพฬวรรณทำให้ทุกคนในครอบครัว(ฝรั่ง)ยอมรับให้ข้าวเหนียวเป็นหนึ่งในอาหารที่นำทานตอนมาเที่ยวปงดูการ์






นพฬวรรณและครอบครัวนำอาหารมาทานที่ปงดูการ์

หลังจากทานอาหารกลางวันกันเสร็จพวกเราพากันเดินขึ้นไปบนสะพานปงดูว์การ์และทางเดินขึ้นสะพานนั้นไม่ได้เป็นขั้นบันไดหากแต่เป็นทางที่ค่อยๆลาดชันไปสู่สะพานทำให้เดินขึ้นได้โดยไม่เหนื่อยมากและในอดึตสะพานนี้ใช้เป็นทางเดินข้ามแม่น้ำการ์ดงหรือข้ามไปยังหุบเขาอีกด้านหนึ่ง ฉะนั้นถ้าทางขึ้นเป็นขั้นบันได บรรดารถม้าหรือเกวียนลากคงขึ้นสะพานไปไม่ได้  


ทางเดินที่ค่อยๆลาดชันขึ้นสู่สะพานปงดูว์การ์

ทางเดินบนสะพานที่ฐานรากชั้นที่ 1 เป็นตอม่อสะพานที่มีความหนา

ระหว่างหุบเขาเป็นแม่น้ำการ์ดงแต่เมื่อมองไปที่แม่น้ำจะเห็นได้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอดเมื่อปีที่ 2014แล้วมาเที่ยวที่นี่ช่วงเดือนกรกฎาคมก็มีน้ำประมาณนี้คะ (แต่ในประวัติศาสตร์แม่น้ำแห่งนี้ไม่ได้แห้งขอดเช่นนี้เป็นเพราะเวลาผ่านมานับพันปีทำให้ภูมิศาสตร์เปลี่ยนส่งผลให้น้ำในแม่น้ำตื้นเขินลง)  และถึงแม้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอดแต่นพฬวรรณก็เห็นนักท่องเที่ยวบางคนใส่ชุดว่ายน้ำลงไปเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน (แต่นพฬวรรณไม่ได้ใส่ชุดว่ายน้ำลงไปเล่นน้ำนะคะ เพราะไม่อยากเป็นปลาพะยูนเกยตื้น..อิอิ)  
จากกลางสะพานมองมาที่แม่น้ำการ์ดงจะเห็นได้ว่าระดับน้ำค่อนข้างแห้งขอด
นักท่องเที่ยวบางส่วนลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำการ์ดง

เมื่อเดินข้ามสะพานมาอีกฝั่งของแม่น้ำก็มีทางเดินไปพิพิพิธภัณฑ์และระหว่างทางเดินไปพิพิพิธภัณฑ์ก็มีสิ่งที่น่าสนใจและ ภายในพิพิธภัณฑ์ก็มีประเด็นและความน่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับการจัดทำสื่อ มัลติมีเดียต่างๆที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสะพานปงดูว์การ์ ถ้านพฬวรรณจะเขียนให้หมดในตอนนี้ก็จะเป็นบทความที่ยาวเกินไป ถ้าเช่นนั้นนพฬวรรณขอไปเขียนเล่าถึงประเด็นดังกล่าวและค่าบริการที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายในการเข้าชมสะพานปงดูว์การ์นี้ใน"นพฬวรรณพาเที่ยวสะพานส่งน้ำ Pont du Gard ตอนที่ 2" ..อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ..


.



วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

MUGUET ดอกไม้สัญญลักษณ์ของวันแรงงานในประเทศฝรั่งเศส

เช้าวันที่ 1 พค.นพฬวรรณก็ได้รับดอกมูเก้จากคุณสามี

เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 1 พฤษภาคม (เมย์เดย์) ของทุกปีเป็นวันแรงงานสากล ซึ่งประเทศในยุโรปส่วนมากและประเทศไทยก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานสากลเช่นกัน ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน

ในเมื่อประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสมีวันแรงงานตรงกัน ผู้อ่านคงสงสัยล่ะซิว่าในเมื่อมีวันแรงงานตรงกันแล้วนพฬวรรณจะเขียนถึงวันแรงงานที่ฝรั่งเศสทำไม ทำไมไม่เขียนเรืองไปเที่ยวสเปนซะที..ก็เพราะว่าที่สเปนมีประเด็นที่น่าเขียนถึงหลายประเด็นซึ่งนพฬวรรณต้องใช้เวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมและใช้เวลาในการเขียนค่ะ งั้นรอหน่อยนะคะ ไว้เรียนจบคอร์สภาษาฝรั่งเศสคงมีเวลาที่จะหาข้อมูลและเขียนบล็อกมากขึ้น

ตอนนี้เรากลับมาที่เรื่องวันแรงงานที่ฝรั่งเศสดีกว่า ที่นี่มีประเด็นที่แตกต่างจากบ้านเราอยู่ 2 ประเด็นคือ

 1. ที่ฝรั่งเศสวันแรงงานถือเป็นวันหยุดราชการด้วย :

ที่บ้านเราวันแรงงานแห่งชาตินั้น ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นหน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่หยุดจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชนเท่านั้น ส่วนที่ฝรั่งเศสวันแรงงานที่นี่ถือเป็นวันหยุดราชการด้วย ฉะนั้นคุณสามีซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจจึงหยุดงานในวันนี้และนพฬวรรณ ซึ่งตอนนี้มีมีบทบาทของชาวต่างชาติที่เรียนภาษาฝรั่งเศสจึงหยุดเรียนไปด้วย และประเทศต่างๆส่วนมากรวมถึงประเทศอเมริกาก็นับว่าวันแรงงาน เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน แต่บ้านเราไม่นับเป็นวันหยุดราชการหรือเมืองไทยเราตีความหมายว่าข้าราชการเป็นผู้ใช้แต่สมองทำงานไม่ได้ใช้แรงงานทำงานจึงไม่ต้องหยุดเฉลิมฉลอง..อิอิ..(ข้อนี้แค่สงสัยเรื่องการตีความของวันหยุดในวันแรงงานของประเทศไทยเท่านั้นนะคะ..ไม่ได้ล้อเลียนอะไรนะ..คริ คริ..)

2.สัญลักษณ์ของวันแรงงานในฝรั่งเศสคือดอกมูเก้ (Muguet de mai : มูเก้แห่งเดือนพฤษภาคม) :

เมื่อนพฬวรณตื่นนอนของเช้าวันที่1 พค. พอลงมาข้างล่างคุณสามีก็ยื่นกระถางดอกไม้ซึ่งมีดอกสีขาวเล็กๆ มีใบสีเขียวเรียวๆยาว และที่สำคัญดอกไม้มีกลิ่นหอมมาก นพฬวรรณก็สงสัยอ่ะดิว่าให้ทำไมเนี่ยเพราะปกติคุณจะสามีจะไม่ให้ดอกไม้พร่ำเพรือแต่จะให้ในวันสำคัญๆ เท่านั้นอย่างเช่นวันสตรีสากลที่ผ่านมา (8มีนาคม) เธอก็ซื้อดอกไม้ให้..แล้ววันนี้ให้เนื่องในโอกาสอะไรล่ะนั่น หรือให้เพราะว่านพฬวรรณป่วยไอแค๊กๆมาหลายวันถ้าจะให้เพราะป่วยก็น่าจะให้ตอนที่ไอจนแสบคอ ท้องไส้ระบบไปหมด..ยังไม่ทันถามว่าให้ทำไมเนี่ยคุณเธอก็บอกว่า "Bonne fête du travail" แปลว่าสุขสันต์วันแรงงานครับ..อ๋อหรา..แต่ก็สงสัยแป๊บ..คิดว่าชั้นเป็นแรงงานในบ้านหรอถึงมาให้ดอกไม้วันแรงงานแก่ฉัน ห่ะ..คุณริชาร์ด..


คุณสามีเลยต้องอธิบายว่าเป็นธรรมเนียมของคนฝรั่งเศสที่จะมอบดอกมูเก้ให้แก่กันในวันแรงงาน นพฬวรรณจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงสรุปได้ว่า ดอกมู้เก้หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lily of the Valley หรือ ระฆังน้อยแห่งหุบเขา(Lily : ลิลลี่ไม่ได้แปลว่าระฆังซะหน่อยแต่ที่เรียกระฆังน้อยน่าจะมาจากลักษณะของดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับระฆังใบน้อยๆ นั่นเอง)  ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มีใบเรียวยาวคล้ายต้นหญ้า ส่วนกิ่งเล็ก ๆ ซึ่งทอดขนานไปกับใบนั้นจะมีดอกมูเก้สีขาวที่มีลักษณะเหมือนระฆังใบเล็กๆเกาะเรียงรายอย่างสวยงาม และที่ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วท้องทุ่งในเดือนพฤษภาคม


ดอกมูเก้มีเป็นดอกเล็กๆสีขาวมีลักษณะคล้ายกับระฆัง

นอกจากนั้นชาวฝรั่งเศสเชื่อกันว่าดอกมูเก้เป็นดอกไม้ที่นำมาซึ่งความสุข และจากการที่ดอกมูเก้ออกดอกปีละ 1 ครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนจึงนับว่าเป็นดอกไม้แห่งเดือนพฤษภาคม  ชาวฝรั่งเศสจึงนิยมดอกมูเก้นำมามอบให้กันในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน เพื่อนำความสุขให้กันในการทำงานต่อไป

ความสำคัญของดอกมูเก้ยังไม่หมดคะ เพราะดอกมูเก้ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่หวนคืนมา หรือความอ่อนหวานที่ช่วยเติมให้ชีวิตสมบูรณ์ จึงมักถูกใช้ประดับในช่อดอกไม้หรือผมของเจ้าสาวดอกมูเก้เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาทำยานานนับศตวรรษแล้ว ปัจจุบันนิยมมาผสมในเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย และนพฬวรรณขอยืนยันว่ากลิ่นหอมจริงๆค่ะ






วางดอกมูเก้ไว้ในห้องรับแขกเมื่อไปนั่งตรงโต๊ะรับแขก
จะได้กลิ่นหอมละมุนของดอกมูเก้เลยคะ

วันแรงงานแห่งชาติกับการใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสในช่วงปีแรกของนพฬวรรณนี้ ถึงแม้ว่านพฬวรรณจะยังไม่ได้ทำงานอะไรแต่นพฬวรรณก็ได้รับดอกมูเก้ซึ่งนับเป็นดอกไม้แห่งความสุขในวันแรงงาน, ดอกไม้แห่งเดือนพฤษภาคม(Muguet de mai) หรืออาจกล่าวได้ว่าดอกไม้ตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิที่สวยงามและมีความสุข ฉะนั้นนพฬวรรณขอขอบคุณคุณสามีสำหรับดอกไม้สวยๆและมีกลิ่นหอมในวันแรงงาน(La Fête du Travail) หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "วันมูเก้" (La Fête du Muguet) ของประเทศฝรั่งเศสก็ได้ และขอบคุณอีกครั้งที่เปฺิดโอกาสให้นพฬวรรณได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและธรรมเนียมของโลกในอีกซึกหนี่ง  ซึ่งนับเป็นประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วยเงิน.. "สุขสันต์วันแรงงาน" นะคะทุกๆคน