วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การจัดระดับชั้นการศึกษาของประเทศฝรั่งเศส

ในบทนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงระบบการศึกษาของฝรั่งเศสในระดับประถมและมัธยมศึกษาเท่านั้นและที่ไม่ได้กล่าวถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพราะลูกๆของผู้เขียนยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น ไว้ลูกชาย"น้องคูณ"จบการศึกษาระดับมัธยมปลายและเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยค่อยเขียนเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษา ค่อยๆเขียนค่อยๆเล่าจากเหตุการณ์ที่พบเจอ ตามแนวคิดเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล่าจากตำราซะงั้น..อิอิ..

เด็กๆมาถึงฝรั่งเศสในช่วงปิดภาคฤดูร้อนและเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดสนิทจริงๆ..เพราะที่นี่เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาจะทำงานหลังจากปิดภาคเรียนฤดูร้อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้มาติดต่อเกี่ยวกับเรื่องเรียน แต่เด็กๆมาหลังจากช่วง 2 สัปดาห์นี้แล้วผู้เขียนจึงขอใช้คำว่าว่าปิดสนิทจริงๆ..อิอิ.. เพราะไม่มีใครอยู่ที่โรงเรียนเลย  ฉะนั้นพวกเราจึงต้องรอโรงเรียนเปิดเทอมในวันที่ 1 กันยายนจึงเริ่มดำเนินการติดต่อกับ "Espace Senghor Montprllier" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างชาติของเมืองมงต์เปลิเยร์และหน่วยงานนี้อยู่ในโรงเรียนระดับมัธยมต้น  Collège Les Aiguerelles และเป็นหน่วยงานที่คุณสามีได้ขอใบลงทะเบียนเรียนโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศสของเด็กๆซึ่งเป็นเอกสารใช้ประกอบในการขอวีซ่า  และการติดต่อกับโรงเรียนที่นี่ใช้ระบบนัดหมายค่ะ ไม่ใช่การเดินเข้าไปติดต่อฉะนั้นพอโรงเรียนเปิดเทอมคุณสามีได้โทรนัดเพื่อขอนำเด็กเข้าไปติดต่อเรื่องเรียน ซึ่งเราได้รับการนัดหมายให้พาเด็กไปพบ อีก 2 สัปดาห์ถัดไปและเป็นการนัดหมายในช่วงบ่าย
ภาพของหน่วยงาน"Espace Senghor Montprllier"ที่ผู้เขียนไปติดต่อที่เรียนให้ลูกๆและอยู่ภายในโรงเรียน Collège Les Aiguerelles (ภาพจากhttp://www.clg-aiguerelles-montpellier.ac-montpellier.fr/)

เมื่อถึงเวลานัดหมายพวกเราพาเด็กๆไปพบตามนัด ซึ่งไม่ต้องรอเพราะที่นี่เวลานัดถือว่าสำคัญมาก ซึ่งถ้าหากนัดหมายกับเราแล้วเวลาที่นัดไว้คือเวลาของเราเลยค่ะ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักประวัติเกี่ยวกับข้อมูลของเด็กและเทียบระดับการศึกษาของไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งการแบ่งระดับการศึกษาของไทยกับฝรั่งเศสก่อนระดับอุดมศึกษาเรียน 12 ปีเหมือนกัน แต่มีการแบ่งช่วงระดับชั้นที่ต่างกันคือประเทศไทยแบ่งเป็น 6:3:3 ส่วนการศึกษาของฝรั่งเศสแบ่งช่วงระดับชั้นเป็น 5:4:3 กล่าวคือประเทศไทยเรียนระดับประถมศึกษา 6 ปี, เรียนมัธยมศึกษาระดับต้น 3 ปีและระดับมัธยมปลาย 3 ปี ส่วนการศึกษาของฝรั่งเศสแบ่งช่วงระดับชั้นเป็น 5:4:3 คือ



1.ระดับประถมศึกษา( Enseignement du premier degré)  ซึงเรียกโรงเรียนระดับนี้ว่าL'école  élémentaire ใช้เวลาเรียน 5 ปี คืออายุ 6-11 ปี

2.ระดับมัธยมศึกษา(Enseignement du second degré)ตอนต้นเรียน 4 ปี อายุ 11-15 ปีและเรียกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต้นว่า Collège

3.ระดับมัธยมศึกษา(Enseignement du second degré)ตอนปลายเรียน 3 ปี อายุ 15-18 และเรียกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาปลายว่า Lycée


ฉะนั้นลูกชาย(น้องคูณ)ที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากเมืองไทยแล้วจึงเทียบได้ว่าน้องคูณได้เรียนจบระดับ Collège ของที่นี่แล้ว และกำลังจะเข้าเรียนในโรงเรียนระดับ Lycée ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษากับผู้เขียนเข้าใจตรงกัน ส่วนน้องข้าวหอมที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 1จากไทยจึงเปรียบเหมือนเรียนอยู่ในระดับ Collège และเรียนจบปีที่ 2 ของระดับ Collège  ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาได้พูดสรุปเกี่ยวกับระดับชั้นการเรียนของน้องข้าวหอมเป็นฝรั่งเศสว่า "Cinquième" ซึ่ง Cinquième แปลเป็นภาษาไทยว่าลำดับที่ 5ทำให้ผู้เขียน"อยากฟังซ้ำ" เพราะคิดว่าฟังผิด..อิอิ..เนื่องจากน่าจะได้ยินคำว่าลำดับที่ 2 หรือถ้านับปีการศึกษาที่เรียนต่อกันมาเรื่อยๆแบบอเมริกาก็น่าจะเป็นลำดับที่7หรือการเรียกเกรด 7แบบของอเมริกา  แต่นี่กลับได้ยินลำดับที่ 5 ผู้เขียนจึงไม่ตอบว่า"oui" ซึ่งแปลว่า"ใช่ " แต่ทำหน้าเหว่อแบบที่เรียกว่า "งงอ่ะ"ลูกสาวช้านจบม.1 ทำไมมาเทียบเป็นป.5ที่นี่ล่ะ หรือการสื่อสารมันผิดพลาดเจ้าหน้าที่อาจสับสนกับภาษาฝรั่งเศสปนอังกฤษสำเนียงไทยของเรา คุณสามีจึงรีบตอบ oui แทนและส่งสายตามาบอกผู้เขียนประมาณว่าที่เจ้าหน้าที่พูดนะถูกแล้ว(มันจะถูกได้ยังไงเดี๋ยวให้กลับบ้านก่อนเถอะ..แม่จะหาข้อมูลให้มันรู้ดำรู้แดงไปเลย) พอกลับมาบ้านผู้เขียนนั่งหัวฟูหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อมูล และตรงไหนที่ไม่เข้าใจหรือต้องการรู้อะไรเพิ่มเติมก็ถามคุณสามีๆก็ใจดีตอบให้ทุกประเด็น ซึ่งผู้เขียนสรุปและเทียบกับการจัดระดับการศึกษาของไทยกับของฝรั่งเศสได้ดังนี้ค่ะ (ผู้เขียนได้เขียนถึงการเรียกชั้นเรียนในระดับอนุบาลด้วยถึงแม้ว่าการเรียนระดับนี้ไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับเช่นเดียวกับของไทยเราแต่ผู้เขียนเห็นว่าในข้อมูลที่อ่านมีการเขียนถึงการศึกษาระดับอนุบาลในผังการจัดระดับการศึกษาเลยใส่ข้อมูลส่วนนี้มาด้วย)
(ข้อมูลhttp://media.eduscol.education.fr/file/dossiers/50/5/enseignement_scolaire_VF_135505.pdf)


              ไทย                                                                     ฝรั่งเศส

*การศึกษาระดับประถมศึกษา      * L'Enseignement du premier degré 
     ชั้นอนุบาลเรียน 3 ปี                            École maternelle เรียน 3ปี(อายุ 3-6ปี)
อนุบาล 1                                                             Petite section
อนุบาล 2                                                             Moyen section
อนุบาล 3                                                             Grande section

   *ระดับประถมศึกษา                        * L' École élémentaire
          เรียน 6 ปี                                                  เรียน 5ปี (อายุ 6-11ปี)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1                  Cours Préparatoire  ( CP)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2               Cours élémentaire 1ére année (CE1) :1ére หมายถึงลำดับที่ 1
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3               Cours élémentaire 2e année (CE1) :1ére หมายถึงลำดับที่2
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4               Cours Moyen 1ére année (CM1)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5               Cours Moyen 2e année (CM2)
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6                6e (Sixième) หมายถึงลำดับที่่ 6 และจัดอยู่ในระดับCollège

*การศึกษาระดับมัธยมต้น                        *L'enseignement secondaire (Collège)
         เรียน 3 ปี                                                     เรียน 4 ปี(อายุ 11-15ปี)
มัธยมศึกษาปีที่1                                 5e (Cinquième)หมายถึงลำดับที่ 5
มัธยมศึกษาปีที่2                                 4e (Quatrième)หมายถึงลำดับที่ 4 
มัธยมศึกษาปีที่3                                 3e (Troisième)หมายถึงลำดับที่ 3


*การศึกษาระดับมัธยมปลาย                  *L'enseignement secondaire (Lycée )
           เรียน 3 ปี                                                  เรียน 3 ปี(อายุ 15-18ปี)
มัธยมศึกษาปีที่ 4                              Seconde หมายถึงลำดับที่ 2
มัธยมศึกษาปีที่ 5                              Première หมายถึงลำดับที่ 1
มัธยมศึกษาปีที่  6                             Terminaleหมายถึงสุดท้าย

(มาถึงตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมสาวน้อยของเราที่จบชั้นม.1จากบ้านเรามาอยู่นี่เรียกว่าระดับที่ 5 ที่ฝรั่งเศสพอเข้าเรียนระดับมัธยมต้นการนับชั้นปีเป็นการนับถอยหลังซะงั้น..เลยทำให้ผู้เขียนงงซะตั้งนาน....แล้วผู้เขียนก็ปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไรน่า " โง่ย่อมมาก่อนฉลาดเสมอ"..อิอิ)

นักเรียนที่นี่เมื่อเรียนจบระดับ Collège แล้วทุกคนจะต้องสอบให้ได้ประกาศนียบัตร BEPC (Brevet d'  études premaier cycle) ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรแห่งชาติเพราะเป็นการสอบที่ใช้ข้อสอบกลางของรัฐจึงเป็นข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งที่นี่ผลการสอบนี้นับว่าสำคัญในการเลือกเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย(Lycée) เพราะในการเข้าเรียนต่อระดับ Lycée ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะมาพิจารณาร่วมกันว่านักเรียนควรเรียนต่อมัธยมปลายในสายไหน โรงเรียนอะไรโดยใช้ผลการสอบประกาศนียบัตร BEPCกับผลการเรียนของเด็กในระดับ Collège ในระยะเวลา4 ปีที่ผ่านมา มาประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อตกลงกันได้แล้วทางโรงเรียนCollègeจะเป็นผู้ทำเอกสารติดต่อไปยังโรงเรียน Lycée ที่สรุปว่าเด็กควรจะไปเข้าเรียน ข้อมูลนี้คุณสามีเล่าให้ฟังถึงตอนนำบุตรสาวที่เกิดจากภรรยาชาวฝรั่งเศส (ภรรยาชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตไปแล้ว)เข้าเรียนในระดับ Lycée ผู้เขียนว่าระบบอย่างนี้ก็ดีนะ รับรองว่าไม่มีข่าวผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมดังรับเงินใต้โต๊ะเพื่อรับเด็กเส้นเข้าเรียน..อิอิ..แต่ถ้าผู้ปกครองประสงค์จะนำลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าเทอมเอง ซึ่งค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนที่นี่ค่อนข้างแพงแต่มีระบบการเรียนการสอนที่ดี ซึ่งลูกสาวของสามีเรียนระดับ Lycée ในโรงเรียนเอกชน

ในการเรียนระดับมัธยมปลายหรือ Lycée จะแบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 ระบบคือ (ข้อมูลจากhttps://fr.wikipedia.org/wiki/Enseignement_secondaire)

1. Lycée d’enseignement général โรงเรียนสายสามัญ ซึ่งจะมีการศึกษาด้านวรรณกรรม (ใช้คำว่า littéraire ), วิทยาศาสตร์. เศรษฐกิจ และสังคม
2. Lycée d’enseignement  technologique โรงเรียนสายเทคโนโลยี
3. Lycée Professionnel โรงเรียนสายอาชีพ


เมื่อนักเรียนระดับ Lycée  เรียนจนจบระดับ Terminale แล้วในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของที่ฝรั่งเศสสิ่งที่สำคัญคือการสอบให้ได้ประกาศนียบัตร BAC(Baccalauréat)แยกตามสายสามัญ (Baccalauréat général)  /สายเทคโนโลยี (Baccalauréat technologique)/สายอาชีพ(Baccalauréat professionnel)ซึ่งเทียบเท่าวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในประเทศไทยแต่ต่างกันที่ไม่ใช่เป็นประกาศนีบัตรของสถานศึกษาอย่างบ้านเราแต่เป็นประกาศนียบัตรแห่งชาติที่ได้มาจากผลการสอบทั่วไปโดยข้อสอบกลางของรัฐ  ซึ่งนับว่าเป็นการวัดระดับความรู้ของเด็กมัธยมปลายในมาตรฐานเดียวกันในแต่ละสายไม่ว่าจะเป็นสายสามัญ, สายทางเทคโนโลยีหรือสายวิชาชีพ ฉะนั้นคะแนนที่ได้จากการสอบประกาศนียบัตร BAC(Baccalauréat) จึงเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเด็กมีความรู้ระดับมัธยมปลายในสาขาต่างๆอยู่ในระดับไหนของประเทศ และเด็กที่จบมัธยมปลายจากจากประเทศอื่นต้องการศึกษาต่อระดับดับปริญญาตรีในประเทศฝรั่งเศส จำเป็นต้องวัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศสให้ได้ก่อน

การศึกษาภาคบังคับของฝรั่งเศสอยู่ระหว่างอายุ 6-16 ปี และไม่มีการสอนเกี่ยวกับศาสนาใดๆในโรงเรียนนอกจากนั้นยังห้ามไม่ให้มีการแสดงออกที่ชัดเจนทางศาสนา เช่นห้ามใส่หมวกคลุมฮิญาบแบบอิสลามในโรงเรียนเนื่องจากการความเป็นกลางทางศาสนา และหากต้องการทราบเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประเทศฝรั่งเศสที่เขียนเป็นภาษาไทยมีบางท่านเขียนเป็นภาษาไทยหาอ่านได้ในเว็บไซต์นี้ค่ะ(http://www.pub-law.net/Publaw/view.aspx?id=765)

มาถึงตอนนี้ผู้เขียนเข้าใจเกี่ยวกับการเรียกระดับชั้นการศึกษาของฝรั่งเศสแล้วค่ะ และทางโรงเรียนได้รับเรื่องของน้องคูณไว้และนัดสอบวิชาคณิตศาสตร์กับความรู้พื้นฐานภาษาฝรั่งเศสในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งน้องคูณบอกว่าวิชาคณิตศาสตร์ทดสอบความรู้แบบใช้สัญญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ถึงแม้ไม่มีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสก็สามารถทำข้อสอบได้ ถ้าหากเด็กเข้าใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในเรื่องนั้นๆเช่น สมการ การบวก-ลบ-คูณ-หาร เศษส่วน ซึ่งการตอบคำถามเป็นช่องว่างให้เด็กเติมตัวเลขหรือเครื่องหมายต่างๆตามช่องที่กำหนดให้ เลขแต่ละข้อมีหลายช่องให้เติม ส่วนภาษาฝรั่งเศสเริ่มทดสอบโดยให้อ่านพยัญชนะภาษาฝรั่งเศส และอ่านคำง่ายๆเป็นคำๆ เมื่อเด็กอ่านไม่ได้จะให้เด็กหยุดอ่าน ถ้าเด็กคนไหนอ่านได้จะให้อ่านเป็นประโยคยาวๆ น้องคูณไม่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาก่อนแต่ผู้เขียนได้สอนให้ออกเสียงพยัญชนะและสระภาษาฝรั่งเศสมาบ้าง น้องคูณจึงอ่านได้แต่คำที่ง่ายๆเท่านั้น หลังจากสอบได้ 1 สัปดาห์ ทางเจ้าหน้าที่ได้นัดให้มาทำเอกสารเกี่ยวกับการมอบตัวเด็กเข้าเรียนและเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ต้องห่วงเรื่องโรงเรียนของน้องคูณ รับรองว่ามีที่เรียนแน่นอนเมื่อได้โรงเรียนสำหรับน้องคูณแล้วจะโทรแจ้งให้ทราบซึ่งต้องใช้เวลานานหน่อยเพราะมีเด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่เมืองนี้เยอะมาก และเจ้าหน้าที่ได้ขี้ให้ดูเอกสารกองเบ้อเร่อบนโต๊ะ..อืมม์..เยอะจริงแฮะ..หุหุ..และก็ใช้เวลานานอย่างที่บอกจริงเพราะพวกเรารอประมาณเดือนกว่าๆ ถึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้น้องคูณไปเข้าเรียนซึ่งเป็นวันที่ 3 พย. 58 และเป็นวันเปิดภาคเรียนครั้งที่ 2 สรุปแล้วน้องคูณรอนานเกือบ 4 เดือนจึงได้เข้าเรียนเพราะช่วงเกือบ 2 เดือนแรกที่น้องคูณมาฝรั่งเศสเป็นช่วงปิดเทอมจึงไม่สามารถติดต่อกับทางศูนย์จัดการศึกษาเพื่อเด็กต่างชาติได้ และช่วงเกือบ 2 เดือนหลังเป็นช่วงติดต่อกับทางศูนย์จัดการศึกษาและเป็นช่วงที่ทางศูนย์ใช้เวลาในการดำเนินการจัดหาโรงเรียนให้กับน้องคูณ

ตอนนี้ผู้เขียนเรียกระดับชั้นต่างๆของการศึกษาที่ฝรั่งเศสแบบไม่งงแล้ว....และในบทต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับ การจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างชาติในฝรั่งเศส ซึ่งในกรณีของน้องข้าวหอมค่อนข้างยุ่งยากแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยความพยายามของสามีและสามารถมาเข้าเรียนหลังพี่คูณเพียงแค่ 2-3 ซึ่งจะยุ่งยากอย่างไรติดตามได้ในบทถัดไปค่ะ


ภาพศาลากลางของแคว้นล็องก์ด็อก-รูซียง(Hotel de Région de  Languedoc-Roussillon)
อยู่ที่
เมืองมงต์เปลิเยร์(Montpellier )จังหวัดจังหวัดเอโร( Herault)นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่ผู้เขียนชอบมากแห่งหนึ่ง





วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสที่ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่)


สิ่งที่ผู้เขียนจะเล่าถึงนี้เป็นประสบการณ์ในการพาลูกๆที่นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศสเข้ารับการศึกษาของฝรั่งเศสในโรงเรียนสำหรับคนต่างชาติของเมืองมงต์เปลิเยร์ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส และข้อมูลนี้เขียนจากประสบการณ์และจากการสอบถามข้อมูลจากสามีรวมถึงการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ประกอบเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้พบเจอ และผู้เขียนในขณะนี้ไม่ใช่นักวิชาการหากเป็นเพียงภรรยาของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เป็นคนไทยซึ่งได้เรียนรู้และชอบการเขียนมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว ฉะนั้นการเขียนนี้จึงไม่ใช่บทความทางวิชาการหากแต่เป็นการเขียนอธิบายถึงสิ่งต่างๆที่ผู้เขียนได้พบตามมุมมองของตนเองเพื่อที่จะทำความเข้าใจและใช้ชีวิตในต่างแดนแบบไม่แปลกแยกมากนัก และในบทนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศสที่คนฝรั่งเศสและคนไทยที่อยู่ฝรั่งเศสมานานรู้สึกว่าธรรมดาเพราะความคุ้นชิน แต่สำหรับคนไทยที่เพิ่งมาอยู่มันก็ธรรมดา(ซะเมื่อไหร่..กิกิ)

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียน
ลูกๆที่ผู้เขียนกล่าวว่า"นับว่าเป็นคนต่างชาติของฝรั่งเศส"คือเป็นลูกๆที่เกิดจากสามีคนแรกที่เป็นคนไทยเพื่อไม่ให้ผู้อ่านงงมากนักผู้เขียนขอกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลูกๆและผู้เขียนก่อนนะคะ ก่อนแต่งงานกับชาวฝรั่งเศสผู้เขียนเป็น single mom หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า"คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว" อยู่ 8 ปีและมีบุตร 3 คน เป็น ชาย 2 หญิง 1 ฉะนั้นเมื่อผู้เขียนแต่งงานครั้งที่ 2 กับชาวฝรั่งเศสจึงได้ทำเรื่องให้ลูกชายคนกลางและลูกสาวคนสุดท้องมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกัน ส่วนลูกชายคนแรกไม่ได้ตามมาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยเนื่องจากลูกมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์เมื่อลูกสามารถสอบตรงเข้าเรียนคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ซึ่งสำหรับลูกไม่ได้มาง่ายๆเพราะลูกเรียนโปรแกรมศิลป์-คำนวณแต่สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่เปิดรับทั้งนักเรียนในของโปรแกรมวิทย์-คณิต และศิลป์-คำนวณได้ลูกต้องผ่านการอ่านหนังสือที่หนักมากในช่วงตอนมัธยมปลายเพื่อทำความเข้าใจด้วยตัวเองกับวิชาฟิสิกส์,เคมี และชีวะวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ยากและลูกไม่ได้เรียนในชั้นเรียน แต่ด้วยความพยายามของลูกทำให้ลูกได้เริ่มก้าวเท้าเข้ามาสู่ความฝันของตนเองลูกจึงไม่ต้องการมาเริ่มต้นสร้างความฝันใหม่ที่ฝรั่งเศส และถ้าหากลูกอยากต่อยอดความฝันด้วยการเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศสคุณแม่อย่างผู้เขียนก็พร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนลูกให้เต็มตามศักยภาพของตนเอง

วันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศส
ผู้เขียนได้นำบุตรชายคนกลางซึ่งมีอายุ 15 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชื่อ"น้องคูณ" กับลูกสาวคนเล็กชื่อ"น้องข้าวหอม"ที่มีอายุ 13 ปีกว่าและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 มาเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ซึ่งลูกๆมาฝรั่งเศสช่วงกลางเดือนกรกฎาคมซึ่งนับว่าเป็นช่วงปิดภาคฤดูร้อนของฝรั่งเศสและเป็นช่วงปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสที่นานทีสุดในรอบปีการศึกษาคือนาน  2 เดือนซึ่งเป็นเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม และการเปิด-ปิดภาคเรียนในฝรั่งเศสไม่ได้เป็น2 ครั้งเหมือนที่เมืองไทยแต่มีการเปิด-ปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง  นอกจากนั้นวันเปิด-ปิดภาคเรียนก็ไม่ตรงกันทั้งประเทศกล่าวคือ วันเปิด-ปิดภาคเรียนของฝรั่งเศสจะแบ่งเป็น 3 โซนมีโซนA โซนB และโซนC ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในโซนเดียวกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกัน โซนต่างกันก็จะมีวันเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกัน แต่ว่ายังมีวันปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศอยู่ 3 ครั้ง ดังปฏิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A, B, C ในภาพที่ 1

                       ภาพที่1ปฎิทินแสดงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในฝรั่งเศสปี 2015-2016 แบ่งตามโซน A,B,C
 (http://cache.media.education.gouv.fr/file/Services/17/1/calendrierscolaire20152016_296171.pdf)


จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าประเทศฝรั่งเศสมีการปิดภาคเรียนถึง 5 ครั้ง(เส้นแถบสีส้ม, ฟ้า, เขียว,คือเส้นที่บอกถึงวันปิดภาคเรียน)ซึ่งบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศและบางครั้งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่ต่างกันในแต่ละโซน ซึ่งสรุปการเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศสตามโซนต่างๆดังนี้

1.) การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 1 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศคือ เปิดวันที่ 1 กันยายน-17 ตุลาคม และปิดวันที่ 18 ตุลาคม- 1พฤศจิกายน

2.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 2 มีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมือนกันทั้งประเทศเช่นกันคือ เปิดวันที่ 2 พฤศจิกายน - 19 ธันวาคม และปิดวันที่ 20 ธันวาคม- 3 มกราคม ซึ่งการปิดภาดเรียนช่วงนี้เป็นการปิดเพื่อเฉลิมฉลองในวันคริสต์และปีใหม่

3.)การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 3มีการเปิดภาคเรียนเหมือนกันทั้งประเทศคือเปิดวันที่ 4 มกราคม แต่การปิดภาคเรียนเป็นการปิดที่แตกต่างวันในแต่ละโซน (เริ่มแล้วนะ เริ่มทำให้งง..หุหุ) ซึ่งนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูตามโซนของตัวเองว่าโรงเรียนของตนปิดวันที่เท่าไหร่

4.การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 4 เป็นการเปิด-ปิดภาคเรียนที่มีวันแตกต่างกันทั้งเปิด-ปิดภาคเรียนในแต่ละโซน (ยุ่งยากแบบจัดเต็มเลยอ่ะ..อิอิ) ฉะนั้นนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องดูปฏิทินแสดงวันปิด-เปิดภาคเรียน ซึ่งเข้าใจไม่ยากค่ะ แต่ต้องดูถ้าไม่ดูได้หลงไปโรงเรียนในวันที่โรงเรียนปิดภาคเรียนกันบ้างล่ะ..อิอิ

5. การเปิด-ปิดภาคเรียนครั้งที่ 5 เป็นการเปิดภาคเรียนที่แตกต่างกันในแต่ละโซน แต่วันปิดภาคเรียนจะปิดพร้อมกันในวันที่ 6 ตุลาคม และยาวไปถึง ไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงการปิดภาคเรียนที่นานที่สุดคือ 2 เดือนและเป็นภาคฤดูร้อนตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว


มาถึงตอนนี้ก็น่าสงสัยนะว่าทางการศึกษาฝรั่งเศสกำหนดวันเปิด-ปิดภาคเรียนแบบไม่ตรงกันทำไมเนี่ย...งงนะ..ซึ่งคุณสามีให้เหตุผลว่าถ้าปิดภาคเรียนตรงกันทั้งประเทศจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรและสถานที่เที่ยวจะคร่าคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวซึ่งคงจะวุ่นวายน่าดู อย่างเช่นการปิดภาคเรียนครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ผู้คนนิยมไปเล่นสกีกัน และประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีหิมะที่สามารถเล่นสกีกันได้เฉพาะบริเวณเทือกเขาแอลป์ (Les Alpes) ที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศ บริเวณทือกเขาพิเรนีส (Pyrénées)ที่อยู่บริเวณภาคใต้ และเทือกเขามัสซิส ซองตรัล
(Massif Central) ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางภาคใต้ของประเทศ จึงเป็นการแบ่งโซนและปิดภาคเรียนในเวลาที่ต่างกันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกเดินทางไปเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

(ขอนอกเรื่องหน่อยนะค่ะ)..ความที่ประเทศฝรั่งเศสมีหิมะเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ฉะนั้นคนฝรั่งเศสที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีหิมะจึงตื่นเต้นเมื่อเห็นหิมะตกไม่ต่างจากคนไทยอย่างผู้เขียนค่ะ เช่นบ้านของผู้เขียนอยู่ที่เมืองAigues Mortes ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ไม่มีหิมะให้เห็นง่ายๆ แต่ก็จะมีปรากฎการณ์หิมะตกเป็นบางปีและตกแบบนิดหน่อยเพียงวันเดียวแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปีแรกที่ผู้เขียนได้มาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้นับเป็นปีที่มีหิมะตกพอดี ซึ่งเพื่อนบ้านบอกว่าเพิ่งจะมีหิมะตกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และผู้คนแถวบ้านก็ตื่นเต้นที่เห็นหิมะตกที่บ้านของตนเอง ซึ่งผู้เขียนได้ยินเสียงเฮด้วยความดีใจของผู้คนแถวบ้านในวันที่หิมะตก  ซึ่งผู้เขียนได้เฮผสมโรงไปด้วยและออกมาวิ่งสัมผัสหิมะเล่นแบบคนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก..อิอิ

ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นประเทศเมืองหนาวทำให้ผู้คนที่นี่ชอบแสงแดดชอบฤดูร้อนและชอบเที่ยวพักผ่อนในฤดูร้อนเช่นกัน  ผู้เขียนจึงคิดว่าที่มีการปิดภาคเรียนระยะยาวถึง 2 เดือนในฤดูร้อนและปิดตรงกันทั้งประเทศเพราะระยะเวลานาน 2 เดือนผู้คนมีเวลามากพอที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนและเวลานาน 2 เดือนคงทำให้ผู้คนกระจายวันกันออกไปเทียวซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาจราจร  แต่ปัญหาการจราจรในช่วงฤดูร้อนก็ยังมีค่ะ เนื่องจากผู้เขียนเคยเดินทางในช่วงฤดูร้อน บริเวณจุดจ่ายเงินค่าทางด่วนสายที่รถวิ่งออกนอกเมืองเพื่อไปท่องเที่ยวรถติดยาวเป็นกิโลเลยค่ะ ซึ่งผู้เขียนเคยใช้เส้นทางนี้ที่ไม่ใช่ช่วงปิดภาคเรียนไม่เคยเห็นรถติดขนาดนี้ ทีแรกผู้เขียนคิดว่าอาจมีอุบัติเหตุ แต่ไม่มีค่ะและคุณสามีบอกว่าเป็นอย่างนี้ถือว่าปกติสำหรับช่วงปิดภาคเรียน ถึงตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมที่ฝรั่งเศสถึงได้มีวันปิดภาคเรียนที่ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ นี่ขนาดปิดไม่พร้อมกันยังขนาดนี้ถ้าปิดพร้อมกันจะขนาดไหน งั้นผู้เขียนขออยู่บ้านนั่งเขียนบล็อกดีป่ะ ประหยัดเงินด้วย(คิดตามประสาคนขี้เหนียวอีกแล้ว..อิอิ)

จากภาพที่ 1 หากพิจารณาการการแบ่งโซนตามช่องโซน A, B, C อย่างคุณสามีพอเห็นชื่อเมืองจะรู้เลยว่าชื่อเมืองนี้อยู่ภาคไหนของประเทศแต่ผู้เขียนเพิ่งมาอยู่ไมถึงปีจะรู้อย่างเธอไหมล่ะ ฉะนั้นผู้เขียนมีตัวช่วยคือภาพปฏิทินของโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน A, B, C ด้วยสีส้ม, ฟ้า, เขียว, ตามภาพที่ 2 ด้านล่างค่ะ


 ภาพที่ 2ปฏิทินของโรงเรียนปี 2015-2018ที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซนA, B,C ด้วยสีส้ม,ฟ้า,เขียว
http://www.education.gouv.fr/cid87910/calendrier-scolaire-pour-les-annees-2015-2016-2016-2017-2017-2018.htm

จากภาพที่ 2 ภาพแผนที่รูปใหญ่เป็นปฏิทินของโรงเรียนอันใหม่ค่ะ ส่วนภาพแผนที่อันเล็กนั่นเป็นของเก่านะคะ ฉะนั้นดูรูปแผนที่อันใหญ่นะคะ จะเห็นได้ว่าสีทั้ง 3 สีทำให้เห็นภาพการแบ่งโซนได้ง่ายว่าในแต่ละโซนครอบคลุมเมืองอะไรบ้าง โดยเมืองต่างๆที่อยู่พื้นที่สีส้มเป็นโซนA, เมืองที่อยู่ในสีฟ้าเป็นโซนB  และโซนเมืองที่อยู่ในสีเขียวเป็นโซนC อย่างลูกๆของผู้เขียนเรียนที่เมืองมงต์เปลิเยร์( Montpellier)จึงอยู่ในโซน C ซึ่งเป็นสีเขียวและประกอบไปด้วยเมือง Montpellier, Toulose ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนเมือง Créteil,  Paris,Versailles เป็นเมืองอยู่ทางภาคเหนือ แต่จากภาพปฏิทินการแบ่งโซนของโรงเรียนทั้งภาพที่1และ2นี้ปรากฏแต่ชื่อเมืองใหญ่ๆและไม่ปรากฏชื่อเมืองบางเมือง เช่นเมืองNîmes หรือเมือง Perpignan ทีผู้เขียนรู้จัก ฉะนั้นก็ต้องดูในแผนที่ว่า สองเมืองนี้อยู่บริเวณไหน เผอิญผู้เขียนรู้จักสองเมืองนี้และรู้ว่าอยู่ในบริเวณพื้นที่เขียวด้านล่างซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ฉะนั้นโรงเรียนในสองเมืองนี้อยู่ในโซน C ถ้าเป็นคนฝรั่งเศสหรือคนไทยที่รู้จักเมืองต่างๆของฝรั่งเศสแค่มีภาพปฏิทินโรงเรียนที่เป็นแผนที่แสดงการแบ่งโซน และบอกชื่อเมืองก็จะรู้ว่าอยู่โซนไหน แต่ผู้เขียนจำชื่อเมืองในประเทศฝรั่งเศสได้เพียงไม่กี่เมือง ซึ่งพอจะรู้เฉพาะเมืองแถวภาคใต้เท่านั้น ถ้าเป็นภาคอื่นต้องเปิดแผนที่ดูค่ะ..

หลังจากผู้เขียนนั่งพิจารณาตารางวันปิดภาคเรียนของลูกๆอยู่สักพัก ผู้เขียนถึงได้เข้าใจคุณสามีว่าทำใมคุณสามีตอบว่า "ยุ่งยาก"ขณะที่ผู้เขียนเคยถามถึงวันเปิด-ปิดภาคเรียนของประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าอธิบายโดยปราศจากปฏิทินของโรงเรียนคงอธิบายยากจริงๆ และกระบวนการเรียนรู้ระบบการเข้าเรียนของลูกๆในฝรั่งเศสของผู้เขียนเพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น และเรื่องต่อไปเป็นระบบการจัดการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสซึ่งติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปค่ะ

ขณะหิมะตกบริเวณหลังบ้าน
ขณะหิมะตกถ่ายจากชั้นบนของบ้าน


ผู้เขียนออกไปเล่นหิมะขณะที่มีหิมะตกเพียง 2-3 ชั่วโมงในรอบ 5 ปี