วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสปี 2015 (élection départementales 22 et 29 mars 2015)



ใบปลิวของผู้สมัครเลือกตั้งที่มาใส่ในตู้รับจดหมายของที่บ้าน ซึ่งบอกผลงานของผู้สมัครและนโยบายของพรรค
ช่วงนี้นพฬวรรณห่างหายจากการเขียนเล่าเรื่องฝรั่งเศสไปนานเกือบเดือนไม่ใช่ไม่มีประเด็นให้เขียนแต่นพฬวรรณต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็นและ สุดสัปดาห์ก็มีกิจกรรมให้ทำมากมาย(พูดง่ายๆไม่ว่างคะแต่เขียนซะเวิ้นเว้อ..อิอิ) แต่วันนี้หลังจากทานอาหารเย็นนพฬวรรณไม่คุยกับใครแล้ว เพราะมีประเด็นที่นพฬวรรณไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเขียนถึงคือเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ  นพฬวรรณได้มาอาศัยร่มใบบุญของประเทศฝรั่งเศสอยู่ นพฬวรรณจึงควรที่จะเรียนรู้ระบบการเลือกตั้งของที่นี่และอีกอย่างก็ต้องการให้เพื่อนๆที่เมืองไทยได้เห็นระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ และการเลือกตั้งท้องถิ่นของที่นี่ก็มีบางประเด็นที่แตกต่างจากบ้านเราซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เป็นวันอาทิตย์คุณสามีบอกว่าช่วงบ่ายจะออกไปเลือกตั้งนพฬวรรณก็หูผึ่งเลย เลือกตั้งอะไรไม่เห็นรู้เรื่องเลย (จะรุู้เรื่ิองได้ยังไงก็นพฬวรรณยังฟังและอ่านข่าวภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ เลย..อิอิ) นพฬวรรณเลยซักถามคุณสามีเป็นการใหญ่และสรุปใจความได้ว่า เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัด(département) และหลังจากตามคุณสามีไปเลือกตั้ง รวมถึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆทำให้นพฬวรรณสรุปได้ถึงระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสได้ดังนี้



ภาพโปสเตอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ติดบริเวณที่ทางการจัดให้
1. เรื่องแรก แบบง่ายๆเห็นชัดๆเลยคือ บ้านเค้าไม่มีการติดป้ายโฆษณาผู้สมัครรับการเลือกตั้งตามถนนหนทางแบบบ้านเรา แต่จะติดโปสเตอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งขนาด 1 * 1.20 เมตรที่บริเวณที่ทางการกำหนดให้ซึ่งอาจเป็นบริเวณคูหาที่ทำการเลือกตั้งหรือ บริเวณศูนย์กลางของเมืองเท่่่านั้น และไม่มีรถยนต์ที่ติดเครื่องกระจายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้าน ถ้าอย่างนั้นประชาชนเค้าจะรู้จักผู้รับสมัครเลือกตั้งได้อย่างไร  ที่นี้ต้องเดือดร้อนคุณสามีที่ต้องตอบคำถามของภรรยาขี้สงสัย..

ที่นี่ทางการจะแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะมีการเลือกตั้งทางโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ ส่วนแต่ละพรรคการเมืองจะให้ประชาชนทราบนโยบายของตนเองโดยหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะกล่าวถึงนโยบายของพรรคตามสื่อต่างๆเช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และมีเว็บไซต์ของพรรค(บ้านเราก็มี) รวมถึงทางพรรคยังได้จัดทำใบปลิวที่มีรูปผู้สมัครและเขียนถึงนโยบายของพรรค ใส่ที่ตู้รับจดหมายของแต่ละบ้านนอกจากนั้นผู้สมัครบางพรรคและลูกทีมอาจไปตาม ตลาดที่มีผู้คนเยอะเพื่อพูดคุยและแจกใบปลิว

จากการที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่ให้ผู้สมัครติดป้ายโฆษณาใหญ่โต และติดป้ายโฆษณาทั่วไปแบบบ้านเรานพฬวรรณคิดในมุมมองของตนเองว่านอกจากเป็นการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว นพฬวรรณคิดว่ายังมีอีก 2เหตุผลตามมุมมองของนพฬวรรณดังนี้

1.1ลักษณะการเมืองของฝรั่งเศสน่าจะเป็นแบบ "พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค" เพราะจากการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการชูนโยบายของพรรคและหัวหน้าพรรคมากกว่าผู้ลงสมัครแต่ละพรรค  และในการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้พรรคใดชนะนับว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2560 และในการเลือกผู้สมัครของคุณสามีนี้นับว่าช่วยยืนยันความคิดของนพฬวรรณเพราะคุณสามีบอกว่าเธอไม่รู้จักผู้สมัครว่าเป็นใครแต่เลือกเพราะเลือกนโยบายของพรรค และอยากเปิดโอกาสให้พรรคนี้ได้เข้ามาทำงานบ้าง(พรรคที่คุณสามีเลือกหัวหน้าพรรคไม่เคยได้เป็นประธานาธิบดี และการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ได้ในรอบแรกพรรคของเธอได้รับเลือกเป็นอันดับสอง  พรรคที่ได้ที่ลำดับที่หนึ่งหัวหน้าพรรคคือ นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส

1.2 การที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งติดป้ายประกาศทั่วไปและมีรถยนต์ที่ติดเครื่องกระจายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้าน ไม่ใช่บ้านเราไม่มีระเบียบแต่นพฬวรรณคิดว่าอาจเป็นเพราะประชากรในบ้านเรายังมีผู้ไม่รู้หนังสือและก็มีประชากรบางส่วนที่ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการอ่าน เช่นบางบ้านอาจจะได้ใบปลิวจากผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่เคยอ่านหรือผู้สูงอายุบางท่านอ่านหนังสือไม่ออก และก็มีประชากรไทยอีกหลายคนที่ไม่เคยอ่านนโนบายของพรรคต่างๆในหนังสือ พิมพ์/ในเว็บไซต์ หรือไม่เคยฟังวิทยุที่บอกกล่าวเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง ฉะนั้นการแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นสามารถเข้าถึงทุกคนโดยที่คนไม่สนใจที่รับรู้ก็ได้รับรู้เพราะป้ายรูปผู้สมัครใหญ่ซะขนาดนั้นและติดไปทั่วมุมเมืองจะไม่เห็นได้อย่างไร..อิอิ
..และขณะที่รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงวิ่งไปตามหมู่บ้านจะยินกันทุกคน ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจฟังก็ตาม

2. เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมาทำงานด้านการเมืองได้เท่าเทียมผู้ชาย : ครั้งแรกที่นพฬวรรณเห็นโปสเตอร์โฆษณาผู้ลงสมัครเลือกตั้งแต่ละพรรคเป็นภาพของผู้หญิงคู่กับผู้ชายนั้น ทำให้นพฬวรรณคิดว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสทำงานด้านการเมืองได้เท่าเทียมกับผู้ชาย  และนพฬวรรณก็เคยอ่านเอกสารการสัมมนาเกียวกับสิทธิความเสมอภาคทางการเมืองระหว่างหญิงและชายในประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสมีความชัดเจนในเรื่องการให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรีอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นการเสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปแบบหญิง 1 ชาย 1 เมื่อปี ค.ศ. 1994 ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 มีรัฐมนตรีหญิงฝรั่งเศส 10 คน ซึ่งนับเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายทางการเมือง(อ้างอิงสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) และในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้น่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งแบบหญิง 1 ชาย 1 เป็นแน่แท้  เมื่อมั่นใจว่าข้อมูลตัวเองไม่พลาดจึงได้ถามคุณสามีเพื่อความแน่ใจ คำตอบที่ได้คือ ถูกต้องครับ และการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบกำหนดให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งแบบหญิง 1 ชาย 1 นี้เพิ่งจะเริ่มมีปีนี้เป็นปีแรก..(วิเคราะห์เก่งนะเนี่ยนพฬวรรณ..อิอิ..)  และนพฬวรรณก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาทำงานด้านการเมืองควบคู่ไปกับผู้ชายตั้งแต่ระดับท้องถิ่น นพฬวรรณชอบประเทศนี้ก็ตรงที่เห็นภาพของความเสมอภาคระหว่าหญิงและชายได้ชัดเจน แล้วประเทศไทยของเราล่ะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีความเสมอภาคกับผู้ชายได้ถึงไหนแล้ว อย่าลืมนะว่าผู้หญิงก็มีความรู้  ความสามารถและมีจิตใจที่เข้มแข็งไม่ต่างจากผู้ชาย..จริงป่ะ ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น..ฮิ้ว ฮิ้ว..

3.ประเทศฝรั่งเศสมีระบบการเลือกตั้งสองรอบ(Two ballot majority : ภาษาฝรั่งเศส Scrutin uninominal majoritaire à deux tour ) หลังกลับจากเลือกตั้งท้องถิ่นวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม คุณสามีก็บอกว่าเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่เสร็จวันอาทิตย์หน้าต้องมาเลือกอีก...นพฬวรรณ (งงแป๊บ ก็บ้านฉันเลือกครั้งเดียวใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้ไป อะไรกันประเทศเธอนี่เยอะนะ)..คุณสามีเลยพยายามอธิบายให้เข้าใจ นพฬวรรณก็เข้าใจแบบไม่เข้าใจ..หุ หุ..ก็นพฬวรรณไม่ได้จบการศึกษาเกี่ยวกับด้านการเมืองและนพฬวรรณก็ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย จะเข้าใจมั๋ยล่ะนั่นแต่นพฬวรรณเป็นคนประเภทถ้ามีข้อมูลที่ค้างคาใจแล้วหาคำตอบไม่ได้เป็นนอนไม่หลับ ฉะนั้นพอกลับมาถึงบ้านนพฬวรรณจึงนำคำพูดคุณสามีมาประติดประต่อแล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้สรุปได้ว่า

ระบบการเลือกตั้งสองรอบนั้น ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก( first ballot : ภาษาฝรั่งเศส Au premier tour)จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นๆหากผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ( absolute  majority : ภาษาฝรั่งเศส majorité absolue)จากผู้มาลงคะแนนคือ เกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาลงคะแนนจะได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทันที โดยมีเงื่อนไขว่า คะแนนของผู้มาใช้สิทธิ์ให้กับผู้สมัครที่ได้รับเลือกนั้นเมื่อรวมกันจะต้องมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้น นับผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิ์ด้วย ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบที่สอง ( second ballot : ภาษาฝรั่งเศส Au deuxième tour) ใน 8 วันต่อมา โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกในแต่ละจังหวัดมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าก็จะชนะการเลือกตั้ง ..ตอนนี้นพฬวรรณถึงบางอ้อแล้ว เข้าใจแล้วคะว่าทำไมคุณสามีบอกว่าอาทิตย์หน้าต้องมาเลือกตั้งอีกเพราะการที่ผู้สมัครจะชนะผูสมัครท่านอื่นแบบมากกว่าร้อยละ 50นั้นมันทำกันยากนะต้องชนะแบบขาดลอยไปเลย และในการเลือกตั้งครั้งนี้ของฝรั่งเศสการเลือกตั้งรอบแรกพรรคสหภาพเพื่อขบวนการประชาชน (Union for a Popular Movement :  UMP) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 29.7 ตามด้วยพรรคแนวร่วมแห่งชาติ(Front National :FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวขวาจัดของนางมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) และได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 25 พลิกความคาดหมายของหลายฝ่ายพอสมควร เนื่องจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (FN)มีคะแนนนิยมนำมาตลอดช่วงเวลาของการหาเสียง  ส่วนพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste : PN) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลฝรั่งเศสชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์(François Hollande)ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ร้อยละ 20

ในการลงคะแนนเสียงรอบที่สอง วันที่ 29 มีนาคม ปรากฎว่าพรรคที่รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดคือ
พรรคสหภาพเพื่อขบวนการประชาชน(UMP) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี
โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก 67 จังหวัด ส่วนอันดับที่2 ได้แก่พรรคของประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ
 พรรคสังคมนิยม (PN) ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 34 จังหวัด และเป็นที่น่าเสึยดายที่พรรคแนวร่วม
แห่งชาติ (FN)ที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าพรรคไม่สามารถชนะการแข่งขันในจังหวัดใดๆเลย และต่อไปเรา
ก็มาตามดูกันว่าการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2560 จะเป็นอย่างไร อดีตประธานาธิบดี
นิโกลาส์ ซาร์โกซี จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสอีกหรือไม่ และอีกตั้ง 2 ปีนพฬวรรณ
กับคุณสามีอาจย้ายกลับไปอยู่เมืองไทยก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นพฬวรรณคงไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งของฝรั่งเศสเท่าไหร่นัก หากแต่ว่าไปติดตามการเมืองของประเทศไทยแทน ซึ่งนพฬวรรณก็หวังว่าเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยเราจะไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น มีประชาธิปไตยเต็มใบแบบไม่มีการทะเลาะกันหรือมีการประท้วงกันกลับไปกลับมานะ สาธุ....

4. ขั้นตอนการลงคะแนนเสียงที่ทำให้เกิดการทุจริตและทำให้บัตรลงคะแนนชำรุดได้น้อย
 ขั้นตอนการลงคะแนนของไทยและของฝรั่งเศสจะคล้ายกันแต่มีประเด็นที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งส่วน
ที่แตกต่างนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งและก่อนที่นพฬวรรณจะชี้ให้เห็นจุด
ที่แตกต่าง นพฬวรรณขอเล่าถึงขั้นตอนที่คุณสามีไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนนะคะ 


คูหาเลือกตั้งที่บังด้วยม่าน นพฬวรรณไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่อนุญาติให้เข้าไปกับคุณสามีได้
 เริ่มจากก่อนออกจากบ้านคุณสามีได้เตรียมบัตรประชาชนและบัตรลงทะเบียนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
 (Carte électorale) บัตรนี่ทางการจะส่งมาให้ทางไปรษณีย์ ฉะนั้นจึงไม่มีการติดรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่บริเวณที่คูหาเลือกตั้งเพื่อให้ไปเช็คชื่อก่อนการลงคะแนนเหมือนที่บ้านเรา 

คูหาเลือกตั้งของเทศบาลที่นพฬวรรณอาศัยอยู่มีตำรวจท้องถิ่น (Municipale :ผู้อ่านคงจำตำรวจMunicipaleที่นพฬวรรณได้เขียนถึงในตอนสถานีตำรวจของฝรั่งเศสไปแล้วได้นะคะ ) ใส่ชุดสีน้ำเงิน ยืนหน้าดุอยู่หน้าคูหาเลือกตั้ง 2 คนข้างในอีก 1คน สภาพการณ์ก็คล้ายๆกับบ้านเรานี่แหละคะ พอเข้าไปข้างในจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ 2 จุด จุดแรกเป็นทางเข้ามีเจ้าหน้าที่ และตำรวจนั่งอยู่ เจ้าหน้าที่จะให้บัตรของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมซองสีน้ำตาลหลังจากนั้นเราก็จะเข้าไปในคูหาหรือหน่วยลงบัตรเลือกตั้ง ซึ่งจะถูกปิดปังจากการมองเห็นด้วยผ้าม่าน แล้วเราก็จะสอดบัตรของผู้สมัครที่เราเลือกใส่ไว้ในซองจดหมาย ต่อจากนั้นเราก็จะเดินไปยังหีบบัตรเลือกตั้งและแสดงบัตรลงทะเบียนของผูู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของเรา และมีเจ้าหน้าที่อยู่หลังที่หีบบัตรเลือกตั้งที่โปร่งใส นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ 2-3 คนเพื่อตรวจสอบเอกสารระบุเอกลักษณ์ตนเองของผู้ลงคะแนนเสียงในกรณีของคุณสามีแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ต่อเจ้าหน้าที่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะรับรองสิทธิในการลงคะแนนเสียงและให้เราหย่อนซองจดหมาย ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้ง จากนั้นคุณสามีจะต้องเซ็นลงในรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในเอกสารเพื่อหลีกเลี่ยงการลงคะแนนซ้อน และบัตรลงทะเบียน(Carte électorale)จะถูกประทับตรา และลงวันที่ที่เราไปลงคะแนนการเลือกตั้ง


สีขาวคือบัตรลงทะเบียนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (Carte électorale) ส่วนซองน้ำตาลคือซองที่เราใส่บัตรของผู้สมัครที่เราเลือก


คุณสามีขณะหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งที่โปร่งใส เจ้าหน้าที่ก็ใจดีเหลือเกินอนุญาติให้นพฬวรรณถ่ายรูปได้
 จากขั้นตอนการลงทะเบียนนี้ขั้นตอนที่ทำให้ยากต่อการทุจริตและทำให้บัตรลงคะแนนชำรุดได้น้อย
หรือไม่สมบูรณ์คือ

4.1 การให้บัตรผู้รับสมัครและให้ซองสีน้ำตาล : ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงแต่เลือกบัตรผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ที่ตนเองเลือกใส่ซองน้ำตาล (ไม่ต้องกาบาทตรงหมายเลขแบบบ้านเราฉะนั้นโอกาสที่จะเลือกผิดมีน้อยมาก) และการนำบัตรที่เราเลือกใส่ซองน้ำตาลอีกทีโอกาสที่บัตรจะชำรุดก็มีน้อยมากเช่นกัน แต่การจะใช้วิธีแบบนี้ก็มีข้อจำกัดกล่าวคือ ประชากรที่มาลงคะแนนเลือกตั้งถ้าอ่านหนังสือไม่ออกจะไม่สามารถเลือกได้ ถ้าเช่นนั้นวิธีการนี้จึงไม่เหมาะสมกับบ้านเราเพราะบ้านเรายังไม่ได้ปลอดผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ฉะนั้นจึงเป็นการดีที่ให้คนจำตัวเลขของผู้รับสมัครเลือกตั้งแล้วมากากบาท ลองคิดดูนะ ถ้าคนอ่านหนังสือไม่ออกแล้วมาใช้วิธีการใช้บัตรอย่างของประเทศฝรั่งเศสที่มีแต่ตัวอักษรแล้วพอรับบัตรมาจากเจ้าหน้าที่ ที่นี่ก็จะงงกันล่ะ...ไม่รู้ว่าบัตรไหนเป็นของผู้สมัครคนใดหรือของพรรคไหน..แล้วก็คงไม่รู้ว่าจะเอาบัตรใบไหนไปใส่ซองดี..หุ หุ
4.2 การที่หีบบัตรเลือกตั้งโปร่งใส นับว่ามีส่วนช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้ เพราะมันโปร่งใส ฉะนั้นการที่ใครจะมาใช้เทคนิคหรือกลโกงในการทุจริตคงไม่ง่าย แต่หีบบัตรโปร่งใส่ก็เหมาะกับบัตรเลือกตั้งที่ใส่ในซองสีน้ำตาล เพราะถ้าเป็นแบบกากบาทแล้วพับกระดาษโอกาสที่กระดาษจะอ้าออกก็จะมีเมื่อกระดาษอ้าออกโอกาสเห็นหมายเลขที่กากบาทก็มีบ้าง แต่ถ้าอยู่ในซองคงไม่ออกมาง่ายๆหรอก ว่าป่ะ..อิอิ..

ฉะนั้น การจัดระบบการเลือกตั้งแบบบ้านเราก็เหมาะกับสภาพของประชากรบ้านเราในปัจจุบันแต่
นพฬวรรณหวังว่าวันข้างหน้าประเทศไทยเราจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆประชากรของประเทศไทยจะปลอดผู้ไม่รู้หนังสือ 100 % และประชากรส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีระบบการเมืองที่โปร่งใส ซึ่งนพฬวรรณหวังคงว่าจะได้เห็นเร็วๆนี้นะ..และสุดท้ายที่นพฬวรรณอยากจะกล่าวคือ ขอขอบคุณคุณสามีมากๆที่ช่วยสืบค้นข้อมูลภาษาฝรั่งเศสให้ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งของเทศบาลเมือง Aigue Mortes ที่กรุณาให้นพฬวรรณเข้าไปถ่ายรูปในคูหาเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะไม่ได้อ่านบล็อกนี้เพราะนพฬวรรณเขียนเป็นภาษาไทยแต่นพฬวรรณก็หวังว่าพวกท่านคงรับรู้ได้ว่า
นพฬวรรณขอบคุณมากๆคะ Merci beaucoup ..